บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ,บมจ.นวนคร (NNCL) และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มองโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา ของ NNCL ขนาดกำลังผลิตราว 100 เมกะวัตต์ในอนาคต หลังจากเปิดโรงไฟฟ้าร่วมทุนแห่งแรก ขนาด 125 เมกะวัตต์ในนิคมฯนวนคร ในนามของ บริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG) อย่างเป็นทางการในวันนี้ และอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนเฟส 2 ซึ่งหากตัดสินใจคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า
"เราก็มองโอกาสที่โคราชไว้ เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าในโคราชมีพอสมควร เกือบ ๆ 100 เมกะวัตต์ เพื่อขายให้กับลูกค้าในนิคมฯ ซึ่งต้องรอท่อส่งก๊าซฯองปตท.ให้แล้วเสร็จก่อน"นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ NNCL กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบัน บมจ.ปตท. (PTT) อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครราชสีมา มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรก สร้างจาก จ.สระบุรีไปยัง จ.นครราชสีมา มีความคืบหน้าแล้ว 87% จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และเฟสที่ 2 จะสร้างจาก อ.สูงเนิน ไปนิคมอุตสาหกรรมสุรนารี คาดจะแล้วเสร็จในปี 61 ขณะที่ปัจจุบัน NNCL มีนิคมฯ 2 แห่ง ได้แก่ นวนคร จ.ปทุมธานี และนวนคร นครราชสีมา ในอ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
วันนี้ NNEG จัดพิธีเปิดโรงผลิตไฟฟ้านวนครอย่างเป็นทางการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 125 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.59 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Firm ระบบโคเจนเนอเรชั่นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี โรงผลิตไฟฟ้านวนคร ดำเนินงานโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด ถือหุ้นโดย RATCH 40%, NNCL และ GPSC ฝ่ายละ 30%
จากความสำเร็จของโครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในเฟสแรก บริษัทร่วมทุนทั้ง 3 ฝ่ายจึงมีแผนดำเนินการโครงการเฟส 2 โดยได้ศึกษาระบบผลิตพลังงานร่วมแบบโคเจนเนอเรชั่นในรูปแบบที่สามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะเป็นการประหยัดการใช้พลังงานของประเทศในภาพรวม คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปีถัดจากนี้
"โครงการนี้ไม่เพียงเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ ยังช่วยสร้างเสถียรภาพในการใช้พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญของโรงงานอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครด้วย"นายนิพิฐ กล่าว
นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้านวนคร จะสร้างรายได้ราว 3.2 พันล้านบาท/ปี แต่ในปีนี้คาดว่าจะรับรู้รายได้ราวครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1.5 พันล้านบาทเท่านั้น โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 90 เมกะวัตต์ขายให้กับกฟผ. ส่วนที่เหลืออีก 35 เมกะวัตต์ ขายให้กับลูกค้าในนิคมฯนวนคร ซึ่งคิดเป็นราว 10% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าในนิคมฯนวนครเท่านั้น ขณะที่โรงงานภายในนิคมฯยังมีแนวโน้มขยายตัว และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้านวนครยังอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนเฟส 2 คาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 50-60 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำราว 30 ตัน/ชั่วโมง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ ผลศึกษาจะแล้วเสร็จในปีนี้ และหากตัดสินใจดำเนินโครงการเฟส 2 ก็จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีและน่าจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ในปีหน้า มีระยะเวลาก่อสร้างราว 2 ปี โดยไฟฟ้าที่ได้จะจำหน่ายให้กับลูกค้าในนิคมฯ นวนคร