นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับคาดการณ์รายได้รวมในปีนี้จะใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 4.6 แสนล้านบาท จากเดิมคาดจะเติบโต 3-5% เนื่องจากราคาปิโตรเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งปรับตัวลงตามราคาน้ำมันโลกและนาฟทา และการแข่งขันสูง ทำให้ราคาขายไม่ได้เป็นอย่างที่คิด โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ รายได้รวม ลดลง 2% มาที่ 2.2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรจะยังเติบโตได้สูงกว่าปีที่แล้วที่มีกำไร 4.5 หมื่นล้านบาท
“ราคาสินค้าไม่ได้อย่างที่คิด ราคาสินค้าของเราก็แปรผันไปตามราคาตลาดโลก ในช่วง 6 เดือนรายได้ลงไป 2% แต่คิดว่าครึ่งปีหลังอาจจะตีกลับ ทั้งปีรายได้ใกล้เคียงปีที่แล้ว...6 เดือนแรกมีกำไร 2.9 หมื่นล้านบาท น่าจะสูงกว่าปีที่แล้ว ครึ่งปีหลังมองว่าเคมีภัณฑ์น่าจะไปได้อยู่"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายรุ่งโรจน์ ยังเชื่อว่าวัฎจักรธุรกิจปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงขาขึ้นไปอีก 2-3 ปี แม้ว่าราคาปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีหลังยังคาดการณ์ได้ยาก จากปัจจัยแนวโน้มความผันผวนของราคาน้ำมันโลก และผลกระทบจากกรณีอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไรก็ดี ในเดือน พ.ย.นี้บริษัทจะปิดซ่อมบำรุงโรงงานของบริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด (ROC ) ระยะเวลา 40 วันก็อาจมีผลกระทบรายได้บ้าง
ขณะที่ SCC คาดว่าปีนี้ปริมาณขายปูนซิเมนต์จะเติบโตได้ราว 1% ตามความต้องการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศ โดยการแข่งขันด้านราคายังคงรุนแรง ทำให้อัตราการเติบโตลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 3-5% จากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ความคืบหน้าของโครงการไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด ทำให้ความต้องการใช้ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในครึ่งปีหลังโครงการภาครัฐจะเริ่มมีการลงทุนมากขึ้น น่าจะช่วยผลักดันปริมาณใช้ปูนให้เพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกปี 60 คาดว่าจะมีการลงทุนภาคเอกชนตามมาทั้งในส่วน commercial และ Residential แต่ยังต้องติดตามเรื่องสภาวะฝนที่อาจจะเป็นปัจจัยถ่วงให้ความต้องการใช้ชะลอตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปีนี้ภาพรวมความต้องการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศมีจำนวนรวม 40 ล้านตัน โดยในส่วนนี้จะเป็นปริมาณขายของ SCC จำนวน 16 ล้านตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 40% ส่วนการส่งออกปูนในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงปีก่อนที่ 4.5 ล้านตัน
ในส่วนกำลังการผลิตปูนซิเมนต์ของ SCC รวมจะเพิ่มเป็น 30 ล้านตันภายในปี 60 โดยเป็นกำลังการผลิตในประเทศ 23 ล้านตัน ในเมียนมามีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน ซึ่งจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในไตรมาส 3/59 และในสปป.ลาว มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน ที่คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 60 ส่วนอินโดนีเซียมีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน และในกัมพูชา มีกำลังการผลิต 0.9 ล้านตัน
ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็ยังดีต่อเนื่อง
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาทสูงกว่าปีก่อนที่ใช้งบลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเน้นลงทุนธุรกิจซิเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจบรรจภัณฑ์ ซึ่งบริษัทยังมองโอกาสการเข้าซื้อกิจการในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ที่แต่ละปีวางลงทุนหลายพันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าการเติบโตของกลุ่มสินค้า HVA น่าจะชดเชยส่วนที่หายไปตามวัฎจักรของกลุ่มสินค้าปิโตรเคมี ส่วนกรณี Brexit และเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวเป็นโอกาสที่จะเข้าไปซื้อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาด้วย
นอกจากนี้ ภายในเดือนส.ค.นี้บริษัทน่าจะมีข้อสรุปตัวเลขการลงทุนช่วง 5 ปี (60-64) โดยโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามทางตอนใต้คาดว่าจะได้ข้อสรุปการหาพันธมิตรเข้ามาทดแทนส่วน Qatar Petroleum ที่ได้ถอนการลงทุนไปในช่วงปลายปีนี้ ล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงกลางปี โดยยืนยันว่าโครงการในเวียดนามยังไม่ล้มเลิกแต่อย่างใด
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ตลาดในภูมิภาคอาเซียนสำหรับ SCC ยังมีแนวโน้มสดใส และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนาม มีความต้องการวัสดุก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และโรงงาน ตามการปรับตัวเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก อีกทั้ง กัมพูชามีการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อินโดนีเซียมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐเริ่มทยอยดำเนินการ ในขณะเดียวกันการค้าระหว่างชายแดนไทย และประเทศเพื่อนบ้านยังเติบโตได้ดี