ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 980 ล้านบาทของ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการมีแหล่งกระแสเงินสดที่กระจายตัวทั้งจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร รวมถึงสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจอาหารบริการด่วน และการมีโรงแรมคุณภาพดีที่หลากหลาย ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัลด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบได้ง่ายจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีอัตรากำไรต่ำ ทั้งนี้ ธุรกิจทั้ง 2 ประเภทจัดว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงเมื่อพิจารณาจากอุปสงค์ของจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการทำการตลาดเชิงรุกในหมู่ผู้ประกอบการอาหารบริการด่วน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้แก่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารได้โดยที่ยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทหดตัวลงเป็นเวลานาน หรือบริษัทมีการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมาก
CENTEL ก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 โดยปัจจุบันตระกูลจิราธิวัฒน์ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 65% บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารในประเทศไทย ทั้งนี้ ในปี 2558 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 47% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 70% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมทั้งหมด
ณ 1 กรกฎาคม 2559 บริษัทบริหารโรงแรม 37 แห่ง รวมจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 7,408 ห้อง โดยโรงแรมทั้งหมดตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยและในต่างประเทศ 4 ประเทศ ได้แก่ มัลดีฟส์ เวียดนาม ศรีลังกา และอินโดนีเซีย บริษัทบริหารงานโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เซ็นทารา แกรนด์" “เซ็นทารา" และ “เซ็นทรา" และมีโรงแรมของตนเองทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย 1 แห่งอยู่ภายใต้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของโดยตรงคิดเป็นสัดส่วน 51% ของจำนวนห้องทั้งหมด
บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด โดยปัจจุบัน บริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป ให้บริการอาหารบริการด่วนจำนวน 11 แบรนด์ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศจำนวน 10 แบรนด์และแบรนด์ของบริษัทเองจำนวน 1 แบรนด์ คือ “เดอะ เทอเรส" โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 บริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวมทั้งหมด 800 แห่งทั่วประเทศ
หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยปรับฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2558 และเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 20.5% ในปี 2558 และ 12.0% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 โดยการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วสะท้อนถึงการมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและความต้องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างมากภายในภูมิภาคเอเชีย โดยทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังอยู่ในระดับดี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ที่ 32.87 ล้านคน
จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มขึ้นจาก 74.8% ในปี 2557 เป็น 80.2% ในปี 2558 โดยรายได้ค่าห้องพักเฉลี่ยต่อจำนวนห้องทั้งหมดของบริษัทเพิ่มขึ้น 6.2% สู่ระดับ 3,858 บาทต่อคืนในปี 2558 สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 รายได้ค่าห้องพักเฉลี่ยต่อจำนวนห้องทั้งหมดของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 5,104 บาทต่อคืน
ในปี 2558 ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว รายได้จากธุรกิจอาหารของบริษัทยังเติบโตอยู่ได้ในระดับ 2% และเมื่อรวมกับธุรกิจโรงแรมแล้ว รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 5% สู่ระดับ 18,937 ล้านบาทโดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 รายได้ของบริษัทยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3% สู่ระดับ 5,220 ล้านบาทเนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นจาก 22.3% ในปี 2557 เป็น 24.7% ในปี 2558 และ 29.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จากการปรับตัวที่ดีขึ้นของธุรกิจโรงแรม และการควบคุมต้นทุนในธุรกิจอาหาร ในระหว่างปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% ต่อปีจากการเพิ่มราคาห้องพักและจากอัตราการเข้าพักโรงแรมตามปกติที่ระดับ 80% นอกจากนี้ โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 23%-25%
เงินกู้รวมของบริษัทปรับลดลงจาก 10,256 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 เป็น 8,311 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 59.6% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 สู่ระดับ 50.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่และขยายจำนวนร้านอาหาร โดยบริษัทมีแผนจะขยายจำนวนร้านอาหารเพิ่มเป็น 1,200 ร้านภายในปี 2563 ดังนั้น คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับไม่เกิน 55%
สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 3,443 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 4,083 ล้านบาทในปี 2558 และอยู่ที่ระดับ 1,384 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 27.3% ในปี 2557 เป็น 36.5% ในปี 2558 และที่ระดับ 37.6% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากระดับ 6.2 เท่าในปี 2557 เป็น 10.7 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ประมาณ 3,247 ล้านบาทและมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 331 ล้านบาท โดยสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอสำหรับภาระหนี้ระยะสั้นและจะได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 856 ล้านบาทรวมทั้งวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำไปใช้ชำระหนี้ที่จะครบกำหนด