ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรราคาน้ำตาล และความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และกัมพูชา ตลอดจนอัตราการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ตลอดจนสัดส่วนรายได้ในธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนของการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้บางส่วน
ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ระหว่างการฟื้นตัวตามวัฏจักร ในทางตรงกันข้ามการปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงหรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
KSL เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ณ เดือนเมษายน 2559 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 69% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2559 เท่ากับ 110,000 ตันอ้อยต่อวัน
ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 7.6 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2558/2559 และผลิตน้ำตาลได้ 774,327 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 7.9% ในปีการผลิต 2558/2559 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 20.1% และกลุ่มไทยรุ่งเรือง 14%
ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล ในช่วงปีการเงิน 2557-2558 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 18% ของรายได้รวมของบริษัท
นอกเหนือจากธุรกิจผลิตน้ำตาลในประเทศไทยแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลใน สปป.ลาว และกัมพูชาด้วย โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการเงิน 2553 สำหรับธุรกิจน้ำตาลใน สปป.ลาว และกัมพูชา บริษัทลงทุนประมาณ 5,200 ล้านบาท ปัจจุบันผลผลิตน้ำตาลใน สปป.ลาว และกัมพูชายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน โดยผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2558/2559 มีเพียง 26,000 ตัน นอกจากนี้ การดำเนินงานของบริษัทใน สปป.ลาว และกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการปรับลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำตาล ดังนั้น บริษัทในประเทศลาวและกัมพูชาจึงยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่โดยขาดทุนจำนวน 115 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2559
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2558 และในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2559 ได้รับผลกระทบจากวงจรธุรกิจขาลงของราคาน้ำตาล โดยอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 21.4% ในปีการเงิน 2558 จาก 25.2% ในปีการเงิน 2557 สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำตาลที่ลดลง อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากอัตรากำไรของกลุ่มธุรกิจพลังงานที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยในปีการเงิน 2558 แม้ว่าความต้องการใช้เอทานอลในประเทศยังคงเติบโต แต่ราคาขายอ้างอิงของเอทานอลปรับตัวลดลง 3% มาอยู่ที่ระดับ 26.5 บาทต่อลิตรในปีการเงิน 2558 ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าลดลง 4.3% ตามการลดลงของราคาเชื้อเพลิง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงอยู่ที่ระดับ 13.1% ในปีการเงิน 2558 เทียบกับปีการเงิน 2557 ที่ระดับ 17.9%
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลงเป็น 3,139 ล้านบาทในปี 2558 จาก 3,816 ล้านบาทในปี 2557 เนื่องจากอัตรากำไรของบริษัทลดลง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 EBITDA ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,701 ล้านบาท ลดลง 17% จาก 2,048 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีการเงิน 2558
การลดลงของ EBITDA นอกจากจะเกิดจากราคาน้ำตาลส่งออกที่ปรับตัวลดลงแล้ว บริษัทยังได้รับผลกระทบจากการที่ต้นทุนการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย ภาวะภัยแล้งในประเทศไทยทำให้ปริมาณอ้อยในประเทศไทยลดลง 11.2% มาอยู่ที่ระดับ 94.05 ล้านตัน และยังทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 103.98 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ในปีการผลิต 2558/2559 จากระดับ 106.65 กก. ต่อตันอ้อยในปีการผลิต 2557/2558 ผลผลิตน้ำตาลของบริษัทจึงปรับตัวลดลง 15.3% มาอยู่ที่ระดับ 774,327 ตันในปีการผลิต 2558/2559 การลดลงของราคาขายเอทานอลและค่าไฟฟ้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการลดลงของ EBITDA ของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ด้วย
อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 59.1% ณ สิ้นปีการเงิน 2558 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงตามวัฏจักรราคาน้ำตาลขาลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7 เท่าในปีการเงิน 2558 จาก 4.7-8.3 เท่าในปีการเงิน 2555-2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 9.9% ในปีการเงิน 2558 เมื่อเทียบกับระดับ 13.4%-25% ในปีการเงิน 2555-2557
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทจะยังคงอ่อนแอในปีการเงิน 2559 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในปีการเงิน 2560 ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาล ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 19 เซนต์ต่อปอนด์ จากราคาเฉลี่ยที่ 10.7 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนสิงหาคม 2558 เนื่องจากการลดลงของผลผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่หลายประเทศ ทำให้ปีการผลิต 2558/2559 เป็นปีการผลิตแรกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาที่น้ำตาลทั่วโลกอยู่ในภาวะขาดดุล จากสมมติฐานราคาน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้น คาดว่า EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3,000-3,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2559-2561 เงินลงทุนของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2559-2560 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี จาก 3,000-6,000 ล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2556-2557 เมื่อพิจารณาแผนการลงทุนและการจ่ายปันผลของบริษัทแล้ว คาดว่าอัตราการก่อหนี้ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50% ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ คาดว่าเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปีการเงิน 2559-2561 ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลและการลดลงของระดับหนี้