นายสมภพ พรหมพนาพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" โดยคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ระดับ 526.6 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบมากนัก แต่จะเริ่มเห็นอัตราการเติบโตของกำไรอีกครั้งในช่วงปี 60-61 จากกำลังผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจากญี่ปุ่นที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือแล้ว 50 เมกะวัตต์ (MW) จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งหมดในปี 60 จากปัจจุบันที่จ่ายไฟฟ้าอยู่ราว 10 MW เท่านั้น อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อ PPA โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มอีกราว 50 MW ที่จะสรุปได้ในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้นั้น ก็จะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มใหม่นี้ทยอยเข้าระบบในปี 61
"ปีนี้เป็นช่วง construction ทำให้ operating asset เหมือนเดิม ๆ ที่เป็นตัว generate รายได้อยู่ ซึ่งแต่ละปีไม่เหวี่ยงอะไรเยอะนัก ปีไหนแดดดีมากก็ดีขึ้นมาหน่อย ปีไหนหน้าร้อนเยอะก็ดีหน่อย แต่ต่างกันไม่กี่เปอร์เซนต์ ถ้าปีนี้กำไรก็ยังไม่ขยับมากนัก...ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปก็น่าจะเห็นการเติบโตได้อย่างชัดเจน ถ้าเป้าที่เราวางไว้จะเห็นดอกเห็นผลน่าจะในปลายปีหน้าถึงต้นปีอีกปีหนึ่ง ปีหน้าจะมีกำลังการผลิตใหม่จากญี่ปุ่นทยอยเข้ามาจาก 50 MW ที่เรามีอยู่แล้วจะทยอยเข้ามาจน COD ครบในปลายปีหน้า ถ้าให้ COD ครบ 100 MW ตามแผนก็จะเป็นปี 61"นายสมภพ กล่าว
นายสมภพ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในเมืองไทยรวมราว 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม ในระบบรางรวมแสง (โรงไฟฟ้า Thermal) 5 MW ,โซลาร์ฟาร์มระบบโฟโต้โวลตาอิกหรือโซลาร์เซลล์ (โรงไฟฟ้า PV) 80 MW ซึ่งบริษัทถือสัดส่วนอยู่ 60% และโซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาอาคารพาณิชย์ อีก 14 MW ซึ่งทั้งหมด COD แล้ว โดยยังคงเหลือโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ที่บริษัทได้สิทธิในการผลิต 1 โครงการ จำนวน 1 MW นั้นจะต้อง COD ภายในปีนี้
ขณะที่ยังมองการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศ แม้มองว่าโอกาสจะมีค่อนข้างจำกัดในช่วง 2-3 ปีนี้จากข้อจำกัดของปริมาณสายส่ง แต่บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าประมูลโครงการที่รัฐบาลจะประกาศออกมา โดยให้ความสนใจผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลระยะที่ 2 ซึ่งรัฐบาลจะเปิดประมูลสำหรับพื้นที่ทั่วประเทศ หลังจากเปิดรับซื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว และโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ ระยะที่ 2 ส่วนพลังงานทดแทนประเภทอื่น ทั้งขยะ และลม เห็นว่ายังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 โครงการที่มีสัญญา PPA แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสรุปดีลได้ในเดือนก.ย.นี้ เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการต่อไป ขณะเดียวกันยังมองโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการเจรจากับบมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟจำนวนมาก เพื่อทำโซลาร์รูฟป้อนไฟฟ้าให้กับโฮมโปร และโรงงานเหล่านั้น เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะสรุปดีลได้ในปลายปีนี้ และเริ่มเห็นการลงทุนได้ในปลายปีนี้ถึงปีหน้า ซึ่งเบื้องต้นมองว่าโมเดลธุรกิจนี้จะสร้างอัตราผลตอบแทนการลงทุนได้ 9-12% ใกล้เคียงกับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐเช่นเดียวกัน
นายสมภาพ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม หลังโอกาสผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศมีไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนเองทั้งหมดในญี่ปุ่นอยู่แล้ว โดยมีโครงการโซลาร์ฟาร์มที่มี PPA ในมือราว 50 MW ซึ่งในส่วนนี้ COD แล้วราว 10 MW ส่วนที่เหลือจะทยอย COD ครบภายในปลายปี 60 ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อ PPA อีกราว 50 MW คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนก.ย.-ต.ค.59 ซึ่งจะทำให้มี PPA โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นได้ตามเป้าหมาย 100 MW ภายในปีนี้ และคาดว่าจะทยอยจ่ายไฟฟ้าได้ครบทั้ง 100 MW ภายในปี 61
ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมแผนที่จะออกหุ้นกู้ในวงเงินราว 3 พันล้านบาท อายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อรองรับการเข้าซื้อโซลาร์ฟาร์มอีก 50 MW ในญี่ปุ่นดังกล่าว ขณะที่ปัจจุบันมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 1.3-1.4 เท่า ทำให้ยังมีศักยภาพในการกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้อีกมาก
ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายจะมี PPA โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นรวมประมาณ 300 MW ในช่วงปี 59-61 ซึ่งการลงทุนจะอยู่ที่ราว 100 ล้านบาท/MW หรือคิดเป็นเงินลงทุนรวมราว 3 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนทั้งหมด 300 MW ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเงินกู้โครงการ (project finance) แม้การลงทุนในญี่ปุ่นจะอยู่ในระดับสูงกว่าในประเทศ แต่ก็ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่ดีกว่า 10% ซึ่งใกล้เคียงกับในประเทศที่อยู่ระดับ 12% ในปัจจุบัน
"ไทยโซลาร์ เฟสแรกคือเมืองไทย โซลาร์บวกไบโอแมส และรูฟท็อป และ own use แล้วก็มาประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่สามเราดูฟิลิปปินส์อยู่กับอินโดนีเซีย ตอนนี้ที่ฟิลิปปินส์ เราคุยกับพาร์ทเนอร์อยู่ อันดับต่อไปถึงจะเป็น AEC แต่คงจะยังช้า เพราะพม่าก็เพิ่งเลือกตั้งเสร็จ ลาวมีประชากรน้อยมากถ้าจะทำต้องทำเล็ก ทำใหญ่ก็ต้องขายกลับมาเมืองไทย เขมรก็ต้องมี connection ที่ดี แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราต้องเข้าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าเป็น long term ส่วน middle term น่าจะเป็นฟิลิปปินส์ใน 1-2 ปีข้างหน้า ที่อาจจะเปิดโซลาร์เหมือนในเมืองไทยเพราะภูมิศาสตร์ที่ดีที่เป็นเกาะ"นายสมภพ กล่าว
นายสมภพ คาดว่าประเทศฟิลิปปินส์น่าจะเป็นประเทศที่สามที่บริษัทเข้าไปลงทุนนอกเหนือจากในไทยและญี่ปุ่น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่คาดว่าจะออกมาในปลายปีนี้ ปัจจุบันบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่มีที่ดินอยู่แล้วเพื่อเข้าไปพัฒนาโครงการด้วยกัน ซึ่งอาจจะได้เห็นในปีหน้า การเข้าไปเริ่มต้นคงจะอยู่ในระดับ 10-20 MW ในช่วงปีแรก ๆ แต่ก็มีโอกาสขยายได้เพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป
สำหรับในลาวบริษัทเคยเข้าไปศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็ก ไม่เกินโครงการละ 25-30 MW เนื่องจากใช้ระยะเวลาดำเนินการสั้นกว่าโครงการพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 5-8 ปี ขณะที่ต้องใช้เวลาสำรวจเกือบ 2 ปี และเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลกว่าจะได้ PPA ซึ่งต้องใช้ระยะเวลากว่า 3 ปีและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจคงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง