TPBI ทุ่ม 800 ลบ.ขยายกำลังผลิตเท่าตัวคาดแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องเฟสแรกปี 61

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 1, 2016 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ทีพีบีไอ (TPBI) เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจลงทุนขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัวหรือเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านเมตรต่อปี บนที่ดิน 17 ไร่ ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รองรับความต้องการในอนาคตที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยใช้งบลงทุนรวม 800 ล้านบาทภายในเวลา 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้และจะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าเฟสแรกได้ภายในปี 2561 โดยกำลังการผลิตของโรงงานใหม่แห่งนี้สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ 4-5 ปี

ปัจจุบัน อัตราการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าของโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับอุปโภคและบริโภคที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท ทีเอเค แพ็คเกจจิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง TPBI บริษัท คานาโอกะ จำกัด และกลุ่มบริษัท เอพีเอส จากประเทศญี่ปุ่น ใกล้เต็ม 100% จากกำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ 100 ล้านเมตรต่อปี

"ประเมินว่าจากอุตสาหกรรมอาหารที่เติบโตขึ้น ได้ส่งผลดีต่อปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่นิยมนำไปใช้ถนอมและยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และรายได้ผลิตภัณฑ์ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกในหมวดดังกล่าวของ TPBI ด้วย โดยเราคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10% อย่างต่อเนื่อง"นายกมลกล่าว

ขณะที่บริษัทมีนโยบายเร่งผลักดันการเติบโตกลุ่มผลิตภัณฑ์ High Value added ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคที่นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแช่เย็นและอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปและถุงบรรจุขนม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ในหมวดฟิล์มประเภท Multilayer Blown Film ได้แก่ ฟิล์มลามิเนตและฟิล์มแบริเออร์ ที่นิยมนำไปใช้ในกลุ่มสินค้าอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป โดยในอนาคตมีเป้าหมายผลักดันสัดส่วนรายได้ของบรรจุภัณฑ์ในกลุ่ม High Value added เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 18-20% ของกลุ่มบริษัท

ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค และในกลุ่ม Multilayer Blown Film ของ TPBI มีอัตราการเติบโตที่ดีปีละไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งมาจากปัจจัยความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทานที่เพิ่มขึ้นตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่นิยมเลือกซื้ออาหารแปรรูปพร้อมรับประทานมากขึ้น และการส่งออกอาหารของผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยยังเป็นได้ดีในอนาคต จึงทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ในหมวดดังกล่าวขยายตัวตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ