โบรกเกอร์ แนะ "ซื้อ" หุ้นธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) โดยมองกำไรปีนี้ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี จากการที่ธนาคารหันมาเน้นการให้สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น อย่างเช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง และสินเชื่อเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในเรื่องของตลาดรถยนต์ใหม่ที่ชะลอตัว กระทบต่อยอดขายรถยนต์ใหม่และการปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งมีโอกาสที่ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ KKP ในปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากปีก่อนที่ 4.3%
นอกจากนี้ ครึ่งปีหลังงานด้านวาณิชธนกิจของ KKP ยังมีความโดดเด่นจากการที่ KKP ได้เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ซึ่งอาจจะมีมูลค่ากองทุนสูงถึง 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างกำไรที่ดี อีกทั้งการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในครึ่งปีหลังที่อาจจะขายในมูลค่าราว 1.6 พันล้านบาท จะทำกำไรราว 550 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนช่วยหนุนกำไรในปีนี้เติบโต
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ KKP คาดว่าปีนี้มีโอกาสอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 6% หลังจากไตรมาส 2/59 พุ่งขึ้นไปที่ 6.1% จาก 5.7% ในไตรมาสแรก ขณะที่การตั้งสำรองมีโอกาสจะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย คาดว่าจะมีการตั้งสำรองในปีนี้อยู่ที่ 3 พันล้านบาท จาก 3.2 พันล้านบาทในปีก่อน จากการที่ NPL ของสินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2/59 ที่คิดเป็นสัดส่วน 50% ของ NPL ทั้งหมด ส่วนใหญ่มีหลักประกันเต็มจำนวน ซึ่งส่งผลให้ KKP อาจไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น
ราคาหุ้น KKP อยู่ที่ 51.75 บาท ลดลง 0.25 บาท (-0.48%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.26%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 61 บัวหลวง ซื้อ 60 แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ซื้อ 57 กรุงศรี ซื้อ 57 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 55.50 ฟิลลิปฯ ซื้อ 53 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อเมื่ออ่อนตัว 53
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ "ซื้อ" KKP มองผลการดำเนินงานในปีนี้และปี 60 ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี จากการที่ขายหุ้นบล.เคเคเทรด ให้กับหยวนต้า ซึ่งกระบวนการการขายหุ้นคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในช่วงต้นไตรมาส 3/59 อีกทั้ง KKP ยังเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ที่จะมีมูลค่ากองทุนสูงถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีโอกาสให้กำไรของ KKP มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรปี 59-60 ของ KKP ขึ้น 9.9% และ 7.3% เป็น 4.8 พันล้านบาท และ 5.2 พันล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในด้านการปล่อยสินเชื่อของ KKP ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้นยังติดลบที่ 1.2% ซึ่งเป็นผลมาจากการสินเชื่อรถยนต์ใหม่ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ ซึ่งปัจจุบัน KKP ได้ปรับพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงให้มีสัดส่วนมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง ที่แนวโน้มราคาขายรถยนต์มือสองค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสินเชื่อรายใหญ่ที่ต่อยอดมาจากลูกค้าของงานวาณิชธนกิจ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ใหม่ที่ชะลอตัว ทำให้ธนาคารต้องปรับพอร์ตสินเชื่อเน้นไปที่สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนดีและสินเชื่อประเภทอื่นที่ยังเติบโตที่ดีอยู่ ทั้งนี้ ยังคาดว่าสินเชื่อรวมของ KKP ในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 0-5%
ส่วนแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ KKP ในไตรมาส 2/59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากไตรมาส 1/59 ที่ 5.7% แต่อย่างไรก็ตามมองว่า NPL ของธนาคารทั้งปีนี้จะต่ำกว่า 6% จากการปรับโครสร้างหนี้ของลูกค้าบางกลุ่มและการชำระคืนหนี้ ซึ่งจะช่วยให้ KKP อาจจะไม่ต้องการตั้งสำรองพิเศษ และมีส่วนที่ส่งผลดีต่อกำไรของ KKP ในปีนี้อีกด้วย
ด้านนางสาวสุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่ากำไรของ KKP ปีนี้จะเติบโตราว 41% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท เป็นผลจากรายการพิเศษที่ได้ขายหุ้นของ บล.เคเคเทรด ให้กับหยวนต้า โดยคาดว่าจะมีการบันทึกรายการพิเศษเข้ามาช่วงไตรมาส 3/59 ราว 50 ล้านบาท และในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาอีก 100-200 ล้านบาท จากการเป็นที่ปรึกษากองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ซึ่งหนุนให้ KKP ยังมีทิศทางการทำกำไรที่ดีอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่ครึ่งปีแรก KKP สามารถทำกำไรได้ที่ 2.4 พันล้านบาท หรือเติบโต 70% จากครึ่งปีแรกของปี 58
ส่วน NPL ของ KKP ในไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากการจัดชั้นคุณภาพสินเชื่อในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่แนวโน้ม NPL ของธุรกิจเช่าซื้อมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนสินเชื่อในไตรมาส 2/59 หดตัวลงราว 1.6% จากไตรมาส 2/58 และลดลง 0.4% จากไตรมาส 1/59 เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบต่อยอดขายรถยนต์ใหม่ อีกทั้งสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน แต่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีการเติบโตที่ดีอยู่
ขณะที่นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง คาดว่ากำไรปี 59 ของ KKP จะมีการเติบโต 39% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองที่มีโอกาสลดลง จากการที่สินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2/59 ซึ่งคิดเป็น 50% ของ NPL ทั้งหมด ส่วนใหญ่มีหลักประกันอยู่เต็มจำนวน ทำให้ธนาคารไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งประเมินว่าการตั้งสำรองของ KKP ในปีนี้จะต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ 3.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครึ่งหลังปีนี้ KKP ยังมีแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกมูลค่าราว 1.6 พันล้านบาท คาดว่าจะสามารถบันทึกกำไรในส่วนนี้ได้ราว 550 ล้านบาท โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกการทำกำไรของ KKP ขณะที่งานด้านวาณิชธนกิจยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จากการที่ KKP ได้เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทางการเงินในการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ซึ่งเป็นงานที่ช่วยเข้ามาหนุนรายได้และกำไรอีกทาง
ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อ มองว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ KKP วางไว้ที่เติบโต 0-5% โดยธนาคารได้หันมาปล่อนสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น ได้แก่ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง และสินเชื่อเอสเอ็มอี แทนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในตลาดที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่ที่ KKP ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 15% ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยตอกย้ำเรื่องการที่ธนาคารเน้นเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมองว่า NIM ของ KKP ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากปีก่อนที่ 4.3% ตามที่ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้