บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1.00 บาท/หุ้น คิดเป็น 40% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ ซึ่งจะแบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นต่อผู้ถือหุ้นสามัญของ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) ไม่เกิน 60 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ ITEL มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในไตรมาส 3/59 โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ครั้งนี้
“สำนักงานก.ล.ต.ได้อนุญาตการออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทฯ แล้ว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 3 ปี 2559 การเข้ามาระดมทุนใน mai ครั้งนี้ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เชื่อมั่นว่า ITEL จะเป็นหุ้น Growth Stock และเป็นอีกทางเลือกสำหรับการลงทุนที่มีคุณภาพ" นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าว
การระดมทุนดังกล่าว ITEL จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการขยายกิจการและเพื่อรองรับความต้องการใช้งานและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ นอกจากนี้จะนำไปใช้ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 600 Racks ราว 70 ล้านบาท ซึ่งจะลงทุนภายในไตรมาส 3/59 และคาดว่าะสามารถเปิดให้บริการภายในปี 60 ซึ่งบริษัทได้ทำสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท ดับบิวเอชเอ อินโฟนิท โฮลดิ้ง (WHA) และ บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) รวมทั้งนำไปใช้คืนเงินกู้ยืมราว 600 ล้านบาท
ปัจจุบัน INET ถือหุ้นใหญ่ใน ITEL ในสัดส่วน 99.99% และหลังจากเสนอขาย IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 60% จำนวนหุ้นที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ILINK
ทั้งนี้ คณะกรรมการของ ILINK ได้กำหนด สัดส่วนการให้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ITEL ที่อัตรา 6.0404 หุ้น ILINK ต่อ 1 หุ้น ITEL กรณีมีเศษหุ้นให้ปัดทิ้ง และกำหนดให้วันที่ 17 ส.ค.59 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่ม ทุนของ ITEL (Record Date) และกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นวันที่ 18 ส.ค.59 และอีก 140 ล้านหุ้นเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป
สำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 12.57 ล้านบาทในปี 56 เป็น 436.89 ล้านบาทในปี 58 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 489.55% ต่อปี และในไตรมาสแรกของปี 59 บริษัทมีรายได้รวม 160.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ ITEL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% จากปีก่อน โดยขณะนี้บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างในมือ (Backlog) กว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ราว 200 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังเน้นการขายบริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่ขณะนี้มียอดขายแล้วกว่า 30% โดยเน้นในกลุ่มธนาคาร และบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังทำการตลาดและเสนอขายโครงข่ายเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากดาต้าเซ็นเตอร์ 6-7% โครงข่าย 54% และอีก 40% มากจากงานรับเหมา
รายได้จากการให้บริการโครงข่ายของบริษัทเติบโตจากการที่โครงข่ายสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศ และสามารถเชื่อมต่อไปยังลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รายได้บริการติดตั้งโครงข่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากงานโครงการติดตั้ง ADSS Optical Fiber Cable ของการไฟฟ้านครหลวง และได้ให้บริการก่อสร้างและปรับปรุงข่ายสัญญาณโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการให้บริการเช่าพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น จากการที่มีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเกือบเต็มพื้นที่ดา ต้า เซ็นเตอร์
อนึ่ง ITEL ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเองจากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทำธุรกิจเป็นผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง โดยมีจุดเด่นที่โครงข่ายของบริษัทฯ เป็นเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงทั้งเส้นทาง ตั้งแต่โครงข่ายหลักจนถึงโครงข่ายย่อยที่ทำการเชื่อมต่อไปยังลูกค้าปลายทาง ทำให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง และมีเสถียรภาพในการใช้งานมากกว่าโครงข่ายประเภทอื่นๆ เช่น โครงข่ายสายโทรศัพท์ หรือโครงข่ายสายทองแดง นอกจากนี้ โครงข่ายของ ITEL ยังเป็นเส้นทางที่แตกต่าง และไม่ทับซ้อนกับโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่มีอยู่เดิมของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงข่ายตามเส้นทางเสาไฟฟ้าบนถนน
บริษัทเลือกใช้เสาโทรเลขตามแนวรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการวางโครงข่าย โดยปัจจุบัน ITEL ได้วางโครงข่ายครอบคลุมแล้วทั้งสิ้น 75 จังหวัดทั่วประเทศ และยังสามารถให้บริการเชื่อมต่อกับโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สิงค์โปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และพม่า รวมทั้งมีศูนย์บริการแก้ไขเหตุขัดข้องทั่วประเทศถึง 38 ศูนย์ดำเนินการตลอด 24 ชม.ทำให้ ITEL มีความพร้อมในการให้บริการลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ และจากการเข้าสู่ยุคดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ของภาครัฐ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้การติดต่อสื่อสารและรับส่ง ข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มาก ขึ้น ตลอดจนการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะยิ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของ ITEL อย่างมากในอนาคต
"ความต้องการใช้โครงข่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราเองก็เป็นผู้ประกอบการรายแรกๆที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งปัจจุบันเรามีลูกค้ารายใหญ่ๆเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการปิดความเสี่ยงในเรื่องของการแข่งขัน เพราะการจะเปลี่ยนผู้บริการโครงข่ายทำได้ค่อนข้างยาก ในส่วนของงานดาต้าเซ็นเตอร์ เราจะขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะปัจจุบันยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และเรามองว่าอนาคตคงจะมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาแข่งขัน ซึ่งเราดำเนินนโยบายที่หาผลตอบแทนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ"นายณัฐนัย กล่าว
ปัจจุบัน ITEL มีทุนจดทะเบียนจำนวน 500 ล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนในครั้งนี้ บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้วเป็น 500 ล้านบาท