นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีพีซีจี (BPCG) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 590 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทมีเป้าหมายภายในปี 63 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 418 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 324 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 182 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตตามสัญญารวม 130 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตและจ่ายไฟฟ้าตามสัญญาแล้ว 118 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 12 เมกะวัตต์
โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 236 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังผลิตตามสัญญารวม 194 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1.โครงการของกลุ่ม SunEdison ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 200 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตตามสัญญา 164 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิตและจ่ายไฟฟ้าตามสัญญาแล้ว 20 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 144 เมกะวัตต์
และ 2.โครงการที่เพิ่งได้เข้าซื้อมาใหม่ในช่วงไตรมาส 2/59 ที่ได้เข้าซื้อใบอนุญาตและที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นอีก 2 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 36 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตตามสัญญา 30 เมกะวัตต์ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
"การลงทุนในกำลังการผลิตที่เหลือเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ยราว 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินที่ได้จากการขาย IPO เงินกู้สถาบันการเงิน ซึ่งโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยบริษัทสามารถกู้ได้ในสัดส่วน 75% ของมูลค่าการลงทุน และอีก 25% มาจากเงินลงทุนของบริษัทเอง"นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับประเภทของพลังงานที่บริษัทจะลงทุนพัฒนานอกเหนือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว บริษัทสนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ โดยรูปแบบการลงทุนจะมีทั้งการเข้าซื้อกิจการและการร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ
อีกทั้งบริษัทยังพยายามพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าหรือใกล้เคียงกับผลตอบในปัจจุบันที่การลงทุนโครงการในประเทศไทยจะให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 15-16 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และการลงทุนในญี่ปุ่นจะให้ EBITDA ไม่ต่ำกว่า 8-10 ล้านบาท/เมกะวัตต์
นอกเหนือจากการลงทุนและเป้าหมายการขยายธุรกิจ บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน เช่น การจ่ายเงินปันผล ที่บริษัทได้กำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ซึ่งบริษัทมีความตั้งใจจะจ่ายเงินปันผลให้ใกล้เคียงกับบริษัทคู่แข่งรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
BCGP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในเครือของกลุ่ม บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 590 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 29.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเพิ่มทุน เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของ BCP ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Right) จำนวนไม่เกิน 68.85 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 11.69% ของจำนวนหุ้น IPO และส่วนที่เหลือจัดสรรให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป
BCPG มีแผนนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ไปใช้ขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินต่อไป
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม กล่าวว่า BCPG มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งจะทำให้หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทได้รับความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนแน่นอน
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม กล่าวว่า สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งไฟลิ่งของ BCPG แล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 และคาดว่าจะสามารถเสนอขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ได้ภายในเดือนก.ย.นี้