M คาดกำไรปีนี้สูงกว่าปีก่อนตามเป้ายอดขายโต,เล็งเปิดแฟรนไชส์ในพม่า-เขมร พร้อมมองหาซื้อแบรนด์เพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 4, 2016 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประวิทย์ ตันติวศินชัย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (บัญชีและการเงิน) บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร"เอ็มเค สุกี้"ร้านอาหารญี่ปุ่น"ยาโยอิ"และ"มิยาซากิ"เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทเชื่อว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะสูงกว่าที่ทำได้ 1.86 พันล้านบาทในปี 58 หากยอดขายรวมของทั้งกลุ่มเติบโตได้ตามเป้าหมาย 7-8% จาก 1.4 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ยอดขายครึ่งปีแรกจะเติบโตเพียง 4% แต่หวังว่าการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง

"ปี 58 ยอดขายเรา drop จึงไม่สามารถรักษากำไรให้เท่ากับปี 57 ได้ แต่ปีนี้ยอดขายกระเตื้องขึ้นแล้ว กำไรก็น่าจะกระเตื้องขึ้นตามยอดขาย ขณะที่ราคาวัตถุดิบยังโอเคอยู่ ยังไม่ขึ้นมาก ราคาอยู่ในระดับคงที่...ทิศทางครึ่งหลังขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจบ้านเราด้วย แต่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว ก็หวังว่าจะส่งผลให้ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นได้"นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวว่า ยอดขายของกลุ่มในไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้น 7.5% จาก 3.75 พันล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน และสูงขึ้นจากระดับ 3.59 พันล้านบาทในไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนและมีวันหยุดมาก ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกยอดขายของกลุ่มเติบโตได้เพิ่มขึ้นราว 4% จาก 7.33 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว โดยเป็นการเติบโตจากยอดขายในประเทศ ทั้งจากสาขาเดิมและการขยายสาขาใหม่ของร้านอาหารเอ็มเค สุกี้และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ซึ่งครึ่งปีแรกขยายสาขารวมมากกว่า 10 สาขา

ปัจจุบัน M มีสาขารวมทุกแบรนด์อยู่ที่กว่า 600 สาขา แบ่งเป็นร้านอาหารเอ็มเค สุกี้ มากกว่า 400 สาขา ร้านอาหารยาโยอิ กว่า 100 สาขา และมิยาซากิ กว่า 20 สาขา ขณะที่เชื่อว่าการขยายสาขาทั้งปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่จะเปิดสาขาเพิ่ม 30-40 สาขา ด้วยงบลงทุนราว 300-400 ล้านบาท หรือเฉลี่ยสาขาละ 10 ล้านบาท เน้นการเปิดตามห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่เป็นหลัก ส่วนยอดขายจากต่างประเทศยังมีไม่มากนัก คิดเป็นราว 5% ของยอดขายรวมเท่านั้น

สำหรับสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ราว 80% จะมาจากเอ็มเค สุกี้ ส่วนที่เหลือเป็นร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ เช่น ยาโยอิ ,มิยาซากิ ,ณ สยาม และเลอ สยาม

ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ 3 แห่ง สามารถรองรับร้านอาหารได้ถึง 1,000 สาขา ส่วนปีหน้ายังไม่สามารถระบุถึงแผนการเปิดสาขาใหม่ได้ เพราะขึ้นกับการเปิดศูนย์การค้าใหม่เป็นหลัก หลังจากบริษัทพบว่าเปิดร้านอาหารในลักษณะ stand alone ไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้น การเปิดสาขาใหม่ในปีหน้าจะขึ้นอยู่กับจำนวนศูนย์การค้าใหม่ด้วย

"stand alone ทดลองเปิดแล้วไม่คุ้ม ปัจจุบันมี 3 แห่ง ที่เอกมัย ศาลาแดง และลอนดอนสตรีท คอมมูนิตี้ ฟู้ดส์มอลล์ ยอดขายพอไปได้แต่ก็ลงทุนสูง และการหาพื้นที่ที่เหมาะสมก็ยาก จากนี้ไปเราจะขยายตัวตามห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมากกว่า"นายประวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากยังมีเงินคงเหลือจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีกราว 8-9 พันล้านบาท ซึ่งนโยบายของบริษัทจะเน้นแบรนด์ธุรกิจอาหารที่มีอยู่แล้วในตลาด และหาโอกาสในการซื้อกิจการที่มี Synergy ร่วมกัน เช่น ครัวกลาง ระบบขนส่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาหลายข้อเสนอ แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง จึงคาดว่าการเข้าซื้อกิจการอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้

"การซื้อกิจการ มองหาทั้งการนำแบรนด์ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาและซื้อกิจการซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการนำแบรนด์ใหม่เข้ามาก็ต้องทดสอบตลาดกว่าจะติดตลาดต้องใช้เวลา แต่หากซื้อกิจการซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วก็จะง่ายกว่า ก็มองทั้ง 2 ช่องทาง เพราะการโตมี 2 อย่าง ถ้าซื้อกิจการได้ก็เร็วนิดนึง ถ้านำแบรนด์ใหม่เข้ามาช่วงแรกก็จะช้า เพราะต้อง test ตลาด นำเข้ามาแล้วก็ต้องปรับ"นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนขยายแฟรนไชส์ร้านเอ็มเค สุกี้ในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และสิงคโปร์ จากปัจจุบันมีสาขาในประเทศญี่ปุ่น 20-30 แห่ง, สิงคโปร์ 9 แห่ง, ลาว 2 แห่ง และเวียดนาม 5 แห่ง

"แฟรนไชส์ร้านเอ็มเคสุกี้ในญี่ปุ่นยอดขายก็ไปได้เรื่อยๆ โดยที่ญี่ปุ่นมี 20 กว่าแห่ง ก็ไปของเขาเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่โตเลย รัฐบาลก็กระตุ้น แต่ก็ไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย ค่อนข้างอิ่มตัว ไม่หวือหวาเหมือนบ้านเรา แต่ที่ประเทศอื่น ๆ โตดี เช่น ลาวเพิ่งเปิด 2 สาขา มีทั้งเอ็มเค สุกี้ และมิยาซากิ ส่วนที่เวียดนามมี 5 สาขา ร้านเอ็มเค สุกี้อย่างเดียว ที่สิงคโปร์ เอ็มเค สุกี้ 2 สาขา ร้านอาหารยาโยอิ 7 สาขา"นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวว่า การจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศจะพิจารณาแถบเอเชียเป็นหลักก่อน เพราะที่อื่นยังไม่พร้อม โดยมองอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งกัมพูชาและเมียนมาเป็นลำดับถัดไป แต่ต้องพิจารณาถึงความพร้อมและศักยภาพของแต่ละประเทศ รวมถึงพันธมิตรที่เข้ามาเจรจาด้วย ซึ่งปีนี้คงจะยังไม่เห็นการขยายแฟรนไชส์เพิ่มเติม เพราะบางรายมาเจรจาแล้วก็เงียบไป บางรายเจรจาแล้วยังมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

"สินค้าแฟรนไชส์ในต่างประเทศตอนนี้ดูเอเชียก่อน เพราะแต่ละประเทศจะมีอาหารท้องถิ่น การจะเข้าไปได้ต้องมั่นใจพอควร ซึ่งก็จะยากนิดหนึ่ง ไม่เหมือนพวกฟาสต์ฟู้ด แฮมเบอร์เกอร์ที่จะง่ายกว่า ซึ่งถ้าไปก็ต้อง test ตลาดก่อน อย่างบ้านเรามีข้าว เวลาไปประเทศอื่น ๆ ก็ต้องไป test ตลาดบ้านเขาด้วย กำลังพิจารณาหลายข้อเสนอ การเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงคาดว่าการเข้าซื้อกิจการจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้"นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวว่า สำหรับบริษัท เนชั่นแนล ฟู้ดส์ ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายนั้น ปัจจุบันเพิ่งเริ่มสายการผลิตสินค้าบางส่วน จากเดิมที่บริษัทจะสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ เช่น ทงคัตสึ แฮมเบอเกอร์ บริษัทย่อยแห่งนี้ก็จะผลิตและส่งให้ร้านอาหารญี่ปุ่นอื่น ๆ ด้วย เพราะการใช้เครื่องจักรในการผลิตจะลดต้นทุนได้มากกว่าการใช้แรงงานคน และการลงทุนดังกล่าวยังได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มาก ซึ่งในอนาคตก็เชื่อว่าจะมีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ