บล.ทรีนีตี้ คาดผลประชามติร่างรธน.ไม่กระทบ Fund Flow แนะจับตาปัจจัยตปท.กระทบตลาดมากกว่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 4, 2016 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐชาต เมฆาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบใด ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเม็ดเงินต่างชาติจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอกมากกว่า ส่วนปัจจัยการเมืองจะส่งผลกระทบเพียงเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนในประเทศเท่านั้น

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะสั้นได้แก่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันนี้ (4 ส.ค.) ซึ่งหาก BoE มีมติขยายวงเงินเป้าหมายโครงการมาตรผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดิมที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์ มองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อสภาพคล่องทั่วโลกได้ อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านพ้นการประชุม BoE รอบนี้ไป คาดว่าปัจจัยผลักดันทางด้านสภาพคล่องจะเริ่มลดลงเนื่องจากไม่น่าจะได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ของธนาคารกลางหลักอื่น ๆ อีก ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ,ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ,ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จนกระทั่งช่วงปลายเดือนก.ย. ซึ่งจะมีการประชุม BOJ ครั้งถัดไป

ในส่วนปัจจัยอื่นที่สำคัญ ได้แก่ การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในวันที่ 5 ส.ค. ต่อด้วยรายงานการประชุม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) รอบที่ผ่านมาในวันที่ 17 ส.ค. และการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติในท้ายที่สุด

ส่วนการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% นั้นถือเป็นผลบวกในแง่ของ Fund Flow เนื่องจากจะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศพัฒนาแล้วมีความน่าดึงดูด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่มีการลดดอกเบี้ยในช่วงหลัง และน่าจะทำให้แนวโน้ม Fund Flow ในตลาดทุนไทยแข็งแกร่งกว่าต่อไป

ในระยะสั้นคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหว Sideways ในกรอบดัชนี 1,470-1,550 จุด แนะนำกลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบดังกล่าว โดยอาจเลือกโฟกัสไปยังพอร์ทหุ้นแนะนำประจำไตรมาสที่ 3 ซึ่งล่าสุดให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14% เทียบกับ SET Index ที่ 7% นอกจากนั้นอาจเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคายังคง Laggard อาทิ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขนส่งฯ และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีหุ้นแนะนำได้แก่ AP, ANAN, BA, SAT

สำหรับภาพการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงยืนยันมุมมองที่ว่าบรรยากาศการลงทุนโดยรวมในไตรมาสที่ 3 น่าจะดีกว่าไตรมาสที่ 4 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายจะไปกองอยู่ในช่วงปลายปีทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯและความเป็นไปได้ที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่า และทำให้ Fund flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ