นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารปรับลดเป้าสินเชื่อรวมปีนี้เหลือเติบโต 6-8% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่เติบโต 8-10% เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 2% ประกอบกับมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่ชะลอตัวอยู่ในครึ่งปีหลัง ทำให้ความต้องการสินเชื่ออาจจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่าปัจจัยที่หนุนการเติบโตของสินเชื่อในครึ่งปีหลังจะมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ทำให้เอสเอ็มอีสามารถนำหลักประกันประเภทกิจการ สิทธิเรียกร้อง ทรัพย์สินในการประกอบธุรกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสามารถมีวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ TMB จะเริ่มมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารดีขึ้น โดยธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้ 5 พันล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปีนี้ยังตั้งเป้าหมายควบคุมให้ไม่เกิน 3% จากครึ่งปีแรกที่ NPL มาอยู่ที่ 2.87% โดยการควบคุมและลดระดับ NPL ในช่วงครึ่งปีหลังนั้อาจมีการตัดหนี้สูญ และการขายหนี้ออกไป หลังจากที่ไตรมาส 2/59 ธนาคารได้ตัดจำหน่ายหนี้สูญไปแล้วมูลค่า 3 พันล้านบาท โดย NPL ยังอาจจะเพิ่มขึ้นแต่ก็จะอยู่ในอัตราชะลอลง ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมของ NPL ทั้งระบบที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 12-18 เดือน ทำให้ธนาคารมีความจำเป็นต้องตั้งสำรองระดับที่สูงในไตรมาส 3/59 และไตรมาส 4/59 โดยจะมีการตั้งสำรองที่ระดับ 1.2-1.3% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
สำหรับการระดมเงินฝากของธนาคารในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับสูงหรือล้นไปแล้ว โดยปัจจุบันมีเงินฝากทั้งหมดอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังเติบโตน้อย ส่งผลให้อัตราการปล่อยสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับสูงที่ 92% ซึ่งเป็นผลให้ธนาคารได้ปรับลดเป้าหมายการระดมเงินฝากในปีนี้เหลือเติบโต 2% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 5-10% และ ธนาคารยังต้องการผลักดันให้ลูกค้าเงินฝากนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น กองทุนรวม ตราสารหนี้ และประกัน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและมีผลตอบแทนที่หลากหลายมากขึ้น