ผู้บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) เชื่อมั่นผลประกอบการปีนี้จะมีกำไรตามแผนปฏิรูปองค์กรอย่างแน่นอน พลิกสถานการณ์จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยคาดผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังใกล้เคียงครึ่งปีแรก ขณะเดียวกันบริษัทจะเดินหน้าปรับกลยุทธ์หารายได้เพิ่ม โดยปลายปีนี้จะเริ่มใช้ระบบการจองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตที่ได้ปรับปรุงระบบเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งช่วยสนับสนุนยอดขายตั๋วโดยสารให้เพิ่มขึ้น และจะพยายามลดต้นทุนของหน่วยธุรกิจ 5 แห่ง
บริษัทยังเตรียมวางแผนธุรกิจระยะ 10 ปี (ปี 60-69) มุ่งเน้นการรุกตลาดใหญ่ทั้งจีน อินเดีย และสหรัฐ หลังจากการปฏิรูปองค์กรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา(ปี 58-59) พร้อมย้ำไม่มีนโยบายขายหุ้น บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เพราะเป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์ธุรกิจ และมองแนวโน้มการเติบโตของสายการบินโลว์คอสต์ยังมีต่อเนื่อง
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในปี 59 บริษัทจะมีกำไรตามแผนปฏิรูปองค์กร ซึ่งกำหนดว่าบริษัทควรจะมีกำไรอย่างน้อย 60-70% ของกำไรที่ควรจะทำได้ เทียบจากปีก่อนที่บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท
“ปีนี้คือกำไรแน่นอน แต่ 60% ของ 100 ล้านบาทหรือ 1 พันล้านบาท หรือ 1 หมื่นล้านบาท...ปีนี้มีการแข่งขันสูงมาก โชคดีมีราคาน้ำมันเข้ามาช่วย ซึ่งทุกรายก็กล้าดัมพ์ราคาเพราะราคาน้ำมันที่ปรับลงมา"นายจรัมพร กล่าว
อนึ่ง ในไตรมาส 1/59 THAI มีรายได้จากการให้บริการ 4.97 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 5,999 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 58 มีรายได้จากการให้บริการ 1.82 แสนล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในครึ่งปีแรกและครึ่งหลังของปีนี้น่าจะออกมาใกล้เคียงกัน โดยไตรมาสแรกเป็นไฮซีซั่น แต่ไตรมาส 2 เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ขณะที่ไตรมาส 4 ก็เป็นช่วงไฮซีซั่น แต่มีไตรมาส 3 เป็นโลว์ซีซั่น อย่างไรก็ดี การบินไทยก็มีมาตรการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดในเดือนก.ย.-ต.ค.ไม่ปล่อยให้ตกต่ำไปตามฤดูกาล ซึ่งเป็นบทพิสูจน์สายการบินที่ประสบความสำเร็จจะต้องรักษา cabin factor ทุกเดือนไม่ให้ตกลง ขณะเดียวกันก็จะต้องปรับปรุงการใช้เครื่องบินอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะนี้ทำได้ในระดับปานกลาง แม้ว่าจะดีขึ้นมาเล็กน้อยหลังจากปฏิรูปองค์กร แต่ก็ยังต้องปรับปรุงอีกมาก
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของการบินไทยในปีนี้ยังทำได้ระดับกลาง คือคาดว่าจะอยู่ที่ 80% ขณะที่คู่แข่งอย่างสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคทำได้ 85% อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาใหม่จากระบบการจองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต และการปรับเส้นทางบินให้เหมาะสมขึ้น กับใช้ขนาดเครื่องบินที่เหมาะสม น่าจะทำให้การบินไทยอยู่ในค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบิน
"เราไม่ควรจะเป็นเจ้าที่ขาดทุน เราไม่เคยขาดทุนอยู่เจ้าเดียว ควรอยู่เฉลี่ย แต่ถ้าทั้งอุตสาหรรมขาดทุน เราก็ไม่ควรอยู่หางแถว เราควรอยู่แนวหน้า แต่ตอนนี้ก็ควรอยู่ตรงกลางก่อน….เราก็พยายามแก้ไขตลอด ทำกิจกรรมตลาด เที่ยวบิน ความถี่เข้า-ออกสำคัญ ซึ่งจะมีสิ่งที่ทำให้แตกต่างได้ดีกว่า เพราะการให้ความสำคัญตารางการบินที่ดีจะช่วยให้ดึงนักธุรกิจมาใช้บริการ ส่วนนักท่องเที่ยวเวลาไหนก็มา ดึกแค่ไหนก็มา"นายจรัมพร กล่าว
ทั้งนี้ THAI ตั้งเป้าหมายผลักดันให้สัดส่วนที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจ เพิ่มขึ้นเป็น 85% จากปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 70%ต้นๆ
นายจรัมพร กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายสำหรับปี 60 ไม่ว่าภาพรวมอัตรากำไร (มาร์จิ้น) อุตสาหกรรมการบินมาร์จิ้นจะเป็นอย่างไร จะขึ้นกับแข่งขันลดราคาหรือไม่ การบินไทยจะต้องแข่งขันได้ และมาร์จิ้นจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้การบินไทยคาดการณ์มาร์จิ้นประมาณ 3% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
ขณะที่ในปีนี้การบินไทยอยู่ในขั้นตอนที่ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงทุกด้าน โดยอันดับแรก คือเรื่องการหารายได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จำเป็นต้องปรับปรุงการขายด้วยการนำระบบต่าง ๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้แข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่ง
ที่ผ่านมาการปรับปรุงระบบการจองตั๋วทางอินเตอร์เน็ตยังไม่เป็นตามเป้าหมาย ล่าช้าจากหลายเรื่อง แต่ขณะนี้ได้เร่งจัดซื้อระบบใหม่ในระดับเวิลด์คลาสมาใช้คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จในปลายปี 59 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสัดส่วนจองตั๋วออนไลน์ในระดับ 30% จากปัจจุบัน 15% และต้องการเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุด
"ตั้งเป้าเริ่มใช้ในปลายปี 59 คาดหวังว่าระบบใหม่จะจองตั๋วได้คล่องเหมือนกับสายการบินอื่น และจะต้องเชื่อมต่อกับระบบกำหนดราคาได้อย่างดี โดยวันที่ 8 ส.ค.จะมีระบบวางราคาใหม่ จะมีราคาเตือนเมื่อเทียบเคียงกับราคาของคู่แข่ง และถ้ามีระบบอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อกันก็จะทำให้การจองตั๋วทำได้ดียิ่งขึ้น"นายจรัมพร กล่าว
*เร่งลดต้นทุน 5 หน่วยธุรกิจ
ในปี 59 การบินไทยได้เข้าสู่ระยะที่ 2 ของแผนปฏิรูปองค์กรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ คือ 1) การหารายได้ เน้นแผนการเพิ่มรายได้ในทุกๆด้าน 2)การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารจัดการกระแสเงินสดและโครงสร้างเงินทุน
3)การสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ ได้แก่ การบริหารเครือข่ายเส้นทางการบิน (Network Management & Optimization) การวางแผนฝูงบิน (Fleet Plan) การเพิ่มศักยภาพระบบบริหารรายได้ (Revenue Management Enhancement) และ 4) การสร้างความเป็นเลิศในการบริการลูกค้า ซึ่งหลายแผนงานได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 58 เช่น การยกระดับการบริการชั้นธุรกิจ (Business Class Service Upgrade)
นายจรัมพร กล่าวว่า ส่วนที่ยังไม่ได้ตามแผน คือเรื่องลดต้นทุน โดยปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นลดต้นทุนจากหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ทั้ง 5 หน่วย ได้แก่ 1.ธุรกิจครัวการบิน 2.ธุรกิจคาร์โก้ 3.ธุรกิจบริการภาคพื้น 4.ธุรกิจลานจอด และ 5 ธุรกิจซ่อมบำรุง โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ทำให้การบินไทยเป็นสายการบินระดับ world class เทียบเคียงคู่แข่ง
ปัจจุบัน การบินไทยมีต้นทุนจาก 5 หน่วยธุรกิจรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ มาจากธุรกิจคาร์โก้ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ธุรกิจซ่อมบำรุงประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ทั้ง 5 หน่วยธุรกิจมีรายได้รวมกันประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
"หากสามารถลดต้นทุนจาก 5 หมื่นล้านบาท หรือลด 10% ก็โอเค ซึ่งเราตั้งเป้า 20% จากปีที่แล้ว 7-8% และปีนี้คาดว่าจะลดได้ 20%...ถ้าลดต้นทุนได้ 10-20% แค่นี้การบินไทยก็กำไรขึ้นแล้ว"นายจรัมพร กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 58 การบินไทยมีรายได้จากการขายและบริการ 1.8 แสนล้านบาท แต่มีรายได้จาก 5 หน่วยธุรกิจเพียง 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ต้นทุนของทั้ง 5 หน่วยอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทแม่ต้องแบกรับภาระแทน ซึ่งขณะนี้ทั้ง 5 หน่วยธุรกิจกำลังปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การหาพันธมิตรเข้ามาเพื่อยกระดับการทำงานระดับมาตรฐานสากล และการหาโอกาสทำธุรกิจเพิ่มขึ้น
นายจรัมพร กล่าวว่า สำหรับธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน บริษัทจะหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการที่อู่ตะเภา ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทชั้นนำที่เก่งด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยอยู่ระหว่างเลือกที่ปรึกษาเข้าช่วยเลือกพันธมิตรที่เหมาะสม และน่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นกว่าล้านบาท เฟสแรกจะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ลำ อาทิ เครื่องบินแอร์บัส A380 และเครื่องบินลำเล็ก อย่างน้อย 4 ลำ
ธุรกิจบริการคลังสินค้า หรือ คาร์โก้ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดเขตฟรีโซนที่สนามบินอู่ตะเภา โดยการบินไทยเข้าไปมีส่วนในการขนส่งออกทางอากาศ เนื่องจากมีเครื่องบินและเจ้าหน้าที่คาร์โก้พร้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ธุรกิจคาร์โก้เริ่มมีกำไรมาตั้งแต่มี.ค.58 จากที่ขาดทุนมาก และตอนนี้ไปถึงระดับที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพและกำลังเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล
ด้านธุรกิจครัวการบิน อยู่ระหว่างการปรับรูปแบบมาผลิตอาหารเองน้อยลง เน้นไปที่บริการกลุ่มไฮเอนด์ และหันไปใช้อาหารแข่เย็นและแข่แข็งมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้คงต้องร่วมทุนพันธมิตรมาทำในโรงงาน โดยภายในปีนี้ธุรกิจครัวการบินต้องสรุปรูปแบบการลงทุนอะไร สัดส่วนอาหารจะบริการบนเครื่องเท่าไร จากที่ทำเองขึ้นเครื่องเองเท่าไร
ส่วนบริการลูกค้าภาคพื้น จะมีระบบเช็คอินผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นภายในสิ้นปี จากปัจจุบันมีสัดส่วน 10% จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ซึ่งจะทำให้การบริการทั้งเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูง ไม่ต้องรอคิวนาน ส่วนบริการอุปกรณ์ภาคพื้น เป็นเรื่องการบริหารจัดการมากกว่า โดยจะค่อย ๆ พัฒนาไป ไม่ได้ก้าวกระโดด แต่เรื่องลานจอดระยะยาว คงจะรอลงทุนในอาคารผู้โดยสารที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ
"ต้องทำให้แต่ละหน่วยธุรกิจมีประสิทธิภาพสูง หลายธุรกิจเป็นต้วเสริมสายการบิน หลายสายการบินแยกออกมา ถ้าเราทำให้เขามีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้จะทำให้ต้นทุนต่ำลง นอกจากจะมีลูกค้าเข้ามาและมีรายได้เพิ่มเข้ามาที่การบินไทยด้วย"นายจรัมพร กล่าว
*ร่างแผน 10 ปีรุกตลาดจีน-อินเดีย-สหรัฐฯ
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนธุรกิจระยะ 10 ปี (ปี 60-69) หลังจากที่ปี 59 จะจบแผนปฏิรูปองค์กร ซึ่งยุทธศาสตร์เบื้องต้น การบินไทยต้องเป็น Full Service Carier มี HUB ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ แต่จะต้องกำหนดตำแหน่งของการบินไทยว่าควรจะอยู่ใน segment ใด ประมาณการจำนวนผู้โดยสารและการเติบโต เพื่อให้รู้ว่าจะต้องลงทุนด้านใดเท่าใด กำหนดจำนวนเครื่องบินและรุ่นที่จะใช้บินในระยะสั้นและระยะไกล
อย่างไรก็ตาม ทิศทางสำหรับแผนการตลาดในเบื้องต้น จะรุกตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย เป็นหลัก
"แผนปฏิรูปทำให้จบปี 59 เราก็พร้อมโต เราจะเลือกปีนเขาลูกไหน 10 ปีข้างหน้า การท่องเที่ยวโตที่ไหน นี่คือโจทย์ ของเรา ปีนี้แผนต้องจบ และเริ่มดำเนินการในปี 60"นายจรัมพร กล่าว
ที่ผ่านมา การบินไทยรับมอบเครื่องบินตามแผน เพื่อมาทดแทนเครื่องบินเครื่องบินเก่าที่ต้องปลดระวาง โดยในปีนี้รับเครื่องบินใหม่ 2 ลำ ส่วนปี 60 รับเครื่องบินใหม่ 7 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 2 ลำ และ แอร์บัส เอ350 จำนวน 5 ลำ และปี 61 รับมอบเครื่องบินใหม่ 5 ลำ เป็นแอร์บัส เอ350 ทำให้ในปี 61 ฝูงบินจะมีทั้งหมด 95 ลำ เท่ากับปี 58 เท่ากับว่าไม่มีการขยายกำลังการผลิต (capacity)
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาแผนธุรกิจ 10 ปีก่อนหากต้องการขยายตลาดให้เร็ว ในช่วง 2 ปีแรกของแผน อาจจะชะลอการปลดระวางเครื่องบินเก่า หรืออาจะใช้วิธีเช่าแทน เพื่อจะได้ขยาย capacity
*ย้ำชัดไม่ขาย NOK
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ระบุว่า การบินไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะยังคงถือหุ้น บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ต่อไป เพราะเป็นกลยุทธ์ธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในเครือ โดยปัจจุบัน THAI ถือหุ้น NOK ในสัดสัดส่วน 39.20% ขณะที่สายการบินไทยสมายล์ ก็ถือเป็นเครื่องมือของการบินไทยที่ช่วยทำตลาดอีก Segment หนึ่ง
“เราสนับสนุน (NOK) เต็มที่ ชัดเจน ยังไม่เปลี่ยนแปลง และจะสนับสนุนมากขึ้นเด้วย เนื่องจากโลว์คอสต์โตมากขึ้นแน่นอน ไปเสริมให้แข็งแกร่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังแก้ไข ในปีนี้น่าจะจบ จากนี้ไปก็เดินหน้าเต็มที่ เราจะเป็นส่วนสนับสนุน เขาเดินธุรกิจได้ดีทีเดียว" นายจรัมพร กล่าว
สำหรับธุรกิจโรงแรมที่บริษัทถือหุ้นนั้น มีแผนจะขายออกไปยกเว้นจะมีธุรกิจร่วมกันชัดเจน ซึ่งปัจจุบัน THAI ถือหุ้นในบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด สัดส่วน 30% บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 24% บริษัท ดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต โฮเต็ล สัดส่วน 40% บริษัท สหโรงแรมและการท่องเทียว จำกัด สัดส่วน 1.3%
ส่วนสินทรัพย์อื่น ได้แก่ ที่ดิน อาคารสำนังาน และบ้านพักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีนโยบายชัดเจนแล้วว่าที่ใดจะขาย เช่า หรือคงอยู่ ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดสัดส่วนการลงทุน