โบรกเกอร์ ประสานเสียงดัชนีหุ้นไทยเดือนสิงหาคม จะปรับฐานและมีโอกาสหลุดระดับ 1,500 จุด แม้ล่าสุดผลประชามติประชาชนจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้า (Fund Flow) ที่เข้ามาเก็งกำไรเรื่องการลงประชามติก่อนหน้านี้ชะลอตัวลง และอาจจะมีแรงขายทำกำไรออกมาด้วย อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวมากนัก กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่ได้สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด รวมถึงยังมีปัจจัยกดดันจากประเด็นการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอาจจะทำให้มีเงินไหลออกไปด้วย
นายเผดิมภพ สงเคราห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การลงประชามติประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นปัจจัยระยะสั้น ที่ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น แต่มองว่าดัชนีหุ้นไทยเดือนสิงหาคมยังเป็นช่วงของการปรับฐาน ซึ่งมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,500 จุด เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานหลักที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหุ้น อย่างเช่น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างขัดเจน การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มลดลง และกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ไม่ได้ออกมาเกินความคาดหวังของนักลงทุน
ขณะที่กระแสเงินไหลเข้ามาในปัจจุบันจะเริ่มเข้ามาค่อนช้ากว่าช่วงก่อนผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะออกมา เนื่องจากกระแสเงินทุนที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนหน้านี้เป็นการเข้ามาเก็งผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง และคาดว่าหลังจากนี้จะมีการขายทำกำไรออกไปบ้าง ทำให้ตลาดหุ้นไทยในเดือนสิงหาคม และทั้งไตรมาส 3/59 จะมีการอัพไซด์ที่จำกัด และมีความเสี่ยงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะลดลงต่ำกว่า 1,500 จุด โดยให้แนวรับอยู่ที่ 1,450-1,490 จุด และแนวต้านที่ 1,550-1,580 จุด
อย่างไรก็ตามมองว่าในเรื่องของปัจจัยทางการเมืองที่มีผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างมีนัยสำคัญนั้น จะต้องรอไปถึงในช่วงปี 60 ที่จะมีการประกาศวันเลือกตั้งอย่างแน่นอน ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อความแน่นอนทางการเมืองของไทย และช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงนั้น
“ปัจจัยการเมืองเป็นปัจจัยระยะสั้นที่กวนใจและมีผลเชิงบวกและลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งหลังจากเรื่องประชามติจบลงแล้วนั้นก็ต้องรอความชัดเจนของการกำหนดวันเลือกตั้งอีกที ในช่วงนั้นจะเป็นอีกช่วงที่คาดว่าจะมี Fund Flow จำนวนมากเข้ามาอีกรอบ ตอนนี้ Fund Flow ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ก็เป็นการเข้าเก็งผลประชามติส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เข้ามามากมายนัก เพราะปัจจัยหลักที่ยังมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อความการตัดสินใจของนักลงทุน"นายเผดิมภพ กล่าว
นายเผดิมภพ กล่าวว่า สำหรับคำแนะนำในการลงทุนในช่วงนี้หลังจากผลการรับร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วนั้นแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ เพราะแสดงว่ารัฐบาลปัจจุบันมีเวลาที่ค่อนข้างจำกัดในการที่จะผลักดันโครงการต่าง ๆออกมา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการกระตุ้นและอัดฉีดโครงการต่าง ๆ ออกมามาก ซึ่งหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ในเรื่องดังกล่าว คือ หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มนี้ คือ CK, STEC ,SCC และกลุ่มที่มีความน่าสนใจอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นหุ้นส่งออกอาหารทะเล ที่ตัวเลขการส่งออกอาหารทะเลในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นบวก และราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มนี้ คือ TU และ CPF
นอกจากนี้หุ้นที่แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นหุ้นที่มีการปรับตัวลดลงก่อนหน้านี้ และในระยะยาวเริ่มที่จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างเช่น PTTGC ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นราคาหุ้นอาจจะมีการฟื้นตัวกลับมาในไตรมาส 3/59 หรือไตรมาส 4/59 จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้นแม้ว่ายังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในไตรมาส 3/59 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่อาจจะยังมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมองว่าหลังจากไตรมาส 3/59 เป็นต้นไปจะเริ่มมีการทรงตัวมากขึ้น โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ SCB ซึ่งราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ส่วนหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศยังแนะนำให้นักลงทุนถือต่อไปหากมีอยู่ แต่หากนักลงทุนยังไม่มีหุ้นในกลุ่มนี้อยู่ในพอร์ต แนะนำให้รอราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลง เพราะที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากแล้ว จากความคาดหวังในเรื่องการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ
ส่วนความเสี่ยงที่อาจจะมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นเรื่องความชัดเจนของการเลือกตั้งที่ยังต้องรอความชัดเจน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่จะมีผลต่อการไหลออกของกระแสเงินทุน และและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรและผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นใกล้เคียงกัน และทำให้ตลาดหุ้นไทยไปไหนได้ไม่ไกล ทั้งนี้บล.กสิกรไทยยังคงเป้าหมายดัชนี SET ปีนี้ที่ 1,530 จุด และคงประมาณการกำไรต่อหุ้น ของบริษัทจดทะเบียนปีนี้อยู่ที่ 93 บาท/หุ้น
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หลังจากนี้กระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาจะเริ่มแผ่วเบาลง เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการเข้ามาเพื่อเก็งผลการลงประชามติ และผลออกมาเป็นไปตามที่นักลงทุนคาด ทำให้มองว่าหลังจากนี้จะมีการขายทำกำไรออกมา หลังจากที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันนี้รับข่าวดีรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคาดว่าแรงขายที่จะออกมาหลังจากนี้จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ มองแนวรับอยู่ที่ 1,480 จุด โดยปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของกระแสเงินไหลขเข้ามาอีกครั้งอาจจะยังต้องใช้ระยะเวลาจนกว่าจะมีความชัดเจนถึงวันที่กำหนดการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น
โดยมองภาพของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการอัพไซด์ในกรอบจำกัด หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ของปีนี้ทะลุ 1,530 จุด ไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อแรงขายทำกำไรออกมา นอกจากนี้หากความคาดหวังเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่เป็นไปตามที่คาดว่าจะไม่มีข้อเสียใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทย แต่หากมีข้อเสียออกมาให้เห็นจะทำให้นักลงทุนต่างเกิดความกังวลและไม่มั่นใจเกี่ยวกับการเมืองของไทย และเกิดแรงเทขายอย่างแรงออกมา ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงต่อไป
ในส่วนของคำแนะนำในการลงทุนหุ้นกลุ่มต่าง ๆ นั้นยังแนะนำหุ้นที่มีราคาที่ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงและยังมีช่วงของการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก อย่างเช่นหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่แนะนำ คือ BH หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหารทะเล คือ TU และ CPF หุ้นปิโตรเคมี คือ PTTGC นอกจากนี้หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่แนะนำ คือ PS เนื่องจากแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะยังออกมาดี อีกทั้งอัตราผลตอบแทนของเงินปันผลยังอยู่ในระดับสูงที่ 6-7% ซึ่งสนับสนุนการอัพไซด์ได้อีกมากในอนาคต ส่วนกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะได้อานิสงส์ของการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ แนะนำ CK
นายปรเมศร์ ทองบัว ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า ทิศทางของตลาดหุ้นไทยในเดือนสิงหาคมนี้อาจจะปรับฐาน จากแรงเทขายทำกำไรที่จะมีออกมาหลังดัชนีปรับตัวขึ้นรับปัจจัยบวกเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ววันนี้ แต่มองว่าการปรับตัวลงต่ำกว่า 1,500 จะไม่มากหนัก เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว และราคาหุ้นที่ซื้อขายก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งระดับ P/E ในปัจจุบันที่ 16.5 เท่า ใกล้จุดสูงสุดเดิมที่ 16.7 เท่า นับว่าเป็นระดับ P/E ที่ค่อนข้างแพง ในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ดีเท่าเดิม อีกทั้งแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/59 และไตรมาส 3/59 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ไม่ดีส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดแรงขายทำกำไรออกมา และทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตามในระยะยาวยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นมากกว่าปัจจุบันหรือไม่ เพราะการขยายตัวในระดับ 3% เป็นระดับที่กลาง ๆ ซึ่งจะมีผลให้อัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่มากนัก ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันการอัพไซด์ของตลาดหุ้นไทย แต่อย่างไรก็ตามมีการลงทุนของภาครัฐที่ยังเป็นแรงหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อยู่ ส่วนหุ้นที่แนะนำยังเป็นหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่างเช่น CENTEL ที่ราคามีการปรับตัวขึ้นมาน้อยกว่าหุ้นในกลุ่ม และการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/59 ในวันพรุ่งนี้ (9 ส.ค. 59) คาดว่าจะออกมาดีและมีแรงซื้อเข้ามาหนุนราคาหุ้น
ส่วนปัจจัยที่ยังกังวลเป็นเรื่องความชัดเจนของการเมืองในระยะสั้นเกี่ยวกับทิศทางการเลือกตั้งและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและเสถีรภาพของรัฐบาล ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ยังเป็นอีกหนึ่งปัจัยเสี่ยงที่กดดัน เพราะหากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะมีเงินไหลออกไป และส่งผลต่อการปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นไทยด้วย