บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) ปรับเป้าหมายเติบโตระยะยาวเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 66 จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 9.7 พันเมกะวัตต์ จากธุรกิจใหม่ในประเทศและลงทุนธุรกิจพลังงานในประเทศเพื่อนบ้านและเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ทิศทางการเติบโตตามแผนธุรกิจใหม่ จะเน้นที่การสร้างการเติบโต การรักษาฐานที่มั่นเดิม และการพัฒนาความสามารถขององค์กร สำหรับกลยุทธ์การเติบโตจะมุ่งแสวงหาตลาดใหม่เพื่อการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจจัดหาเชื่อเพลิง ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน(นอกจากไฟฟ้า) ธุรกิจเหมืองถ่านหิน ธุรกิจคมนาคมขนส่ง และ ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่
ส่วนการรักษาฐานที่มีกิจการแล้ว ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย นอกจากจะให้ความสำคัญกับการรักษาความสามารถในการทำกำไรของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้ว ยังมีโอกาสขยายและต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ด้วย ด้านการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรจะให้น้ำหนักการบริหารความเสี่ยงโครงการ เพราะการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับธุรกิจพลังงาน โดยประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทให้ความสำคัญประเทศเมียนมา และกัมพูชาเพราะช่วยเอื้อประโยชน์ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย กลุ่มประเทศอาเซียนจะเน้นที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น และจีน
ทั้งนี้บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่กำลังเจรจาและศึกษาความเหมาะสมและการลงทุนในประเทศเป้าหมายเหล่านี้แล้ว ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก พลังงานทดแทนและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งคาดว่าหลายโครงการจะได้ข้อสรุปชัดเจนในปีนี้
ส่วนฐานธุรกิจเดิมในประเทศไทย สปป.ลาว และออสเตรเลีย ได้ทุ่มความพยายามขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการพลังงานทดแทน และธุรกิจใหม่อื่นๆในประเทศไทย บริษัทได้ตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เพราะป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมและไฟฟ้า ควบคู่กัน ซึ่งบริษัทมีคบุคคลากรพร้อมอยู่แล้ว
"บริษัทเชื่อมั่นว่า แนวทางนี้จะสามารถผลักดันให้บริษัทบรรลุเป้าหมายเที่ยบเท่าที่วางไว้อย่างแน่นอน" นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทรับรู้กำลังการผลิตตามการถือหุ้น รวม 6,980 เมกะวัตต์ ขณะที่เป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดให้ได้ 20% หรือประมาณ 200 เมกะวัตต์ ของกำลังการผลิตเป้าหมาย 1 หมื่นเมกะวัตต์ ในปี 66