(เพิ่มเติม) RATCH เพิ่มเป้าหมายเติบโตระยะยาวเป็น 1 หมื่น MW ในปี 66,รุกโครงการรถไฟฟ้า-ผลิตน้ำประปา

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 9, 2016 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ปรับเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเติบโตระยะยาวเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 66 จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ 9,700 เมกะวัตต์ เน้นการหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศ หลังเตรียมเข้ายื่นประมูลสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีการพัฒนาโครงการแล้ว พร้อมมองหาธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยงของธุรกิจไฟฟ้าที่ค่อนข้างนิ่ง โดยเฉพาะธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงที่จะให้ความสำคัญกับโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในประเทศ และการผลิตน้ำประปาในลาว

"เป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยง ธุรกิจผลิตไฟฟ้าค่อนข้างนิ่ง และเปลี่ยนรูปแบบพอสมควร ในแง่ของบริษัทก็ต้องจัดการความเสี่ยงให้มีธุรกิจหลายอย่าง ธุรกิจใหม่จะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ของบริษัทเข้าไปด้วย ในระยะยาว ๆ สัดส่วนกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ คงจะเป็นส่วนน้อยไม่มากกว่า 1 ใน 3 ธุรกิจหลักยังมาจากการผลิตไฟฟ้าอยู่"นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าว

นายรัมย์ กล่าวว่า ทิศทางตามแผนธุรกิจใหม่จะเน้นที่การสร้างการเติบโต การรักษาฐานที่มั่นเดิม และการพัฒนาความสามารถขององค์กร โดยกลยุทธ์การสร้างการเติบโตจะมุ่งหาตลาดใหม่เพื่อการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ เน้นในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา และกัมพูชา รวมถึงอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น และจีน

สำหรับธุรกิจใหม่ที่บริษัทให้ความสนใจ ได้แก่ ธุรกิจการจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับธุรกิจ LNG ที่น่าจะมีการดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ขนาด 5 ล้านตัน/ปี ,ธุรกิจเหมืองถ่านหิน

ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน (นอกจากไฟฟ้า) ซึ่งครอบคลุมธุรกิจคมนาคมขนส่ง เช่น โครงการรถไฟฟ้า ที่บริษัทตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู จะเป็นการร่วมกับพันธมิตรซึ่งอยู่ในกลุ่ม 17 บริษัทที่มาซื้อซองประมูลของทั้ง 2 โครงการ เพราะเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมและไฟฟ้าควบคู่กัน และบริษัทก็มีความพร้อมที่จะเข้าประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ หากมีการเปิดประมูลให้บริหารจัดการทั้งโครงการเช่น 2 สายนี้ด้วยในอนาคต

โครงการผลิตน้ำประปา ซึ่งปัจจุบันให้ความสนใจทำโครงการดังกล่าวในลาว โดยล่าสุดได้เจรจากับรัฐบาลลาวที่ได้เสนอโครงการเข้ามาให้บริษัทพิจารณา เพราะปัจจุบันลาวอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมาก

ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ,การผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) เป็นต้น ซึ่งต้องเริ่มเข้าไปศึกษาและหาจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน

นายรัมย์ กล่าวว่า ส่วนการรักษาฐานที่มีกิจการแล้ว ได้แก่ ประเทศไทย ลาว ออสเตรเลีย นอกจากจะให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำกำไรของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้ว ยังมีโอกาสขยายและต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ด้านการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรจะให้น้ำหนักการบริหารความเสี่ยงโครงการ เพราะการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยในประเทศไทย จะมีการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน เช่น การเสนอขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่จ.ชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค 2 โครงการ ,การเข้าประมูลผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มของหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ,การศึกษาขยายกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้านวนคร เฟส 2 อีกราว 60 เมกะวัตต์ ,การมองหาโอกาสซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) และการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู เป็นต้น

สำหรับในลาว ให้ความสนใจลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ และการขยายไปสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ขณะที่ในออสเตรเลีย ให้ความสนใจลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงามลม จากปัจจุบันที่บริษัทมีโครงการพลังงานลม Mount Emerald ขนาด 180 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 61 และยังได้สิทธิพัฒนาโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมอีก 2 โครงการด้วย

"บริษัทเชื่อมั่นว่า แนวทางนี้จะสามารถผลักดันให้บริษัทบรรลุเป้าหมายเทียบเท่าที่วางไว้อย่างแน่นอน"นายรัมย์ กล่าว

นายรัมย์ กล่าวว่า แผนธุรกิจดังกล่าวยังเป็นแผนเบื้องต้นที่มีการหารือร่วมกันกับผู้บริหาร คาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้ในช่วงไตรมาส 3/59 นี้ ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำงบลงทุนในปี 60 ซึ่งอาจจะเพิ่มจากงบปกติราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี หากมีการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มเติม

นายภาสกร ดังสมัคร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 2 ของ RATCH กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการอื่น ๆ ในต่างประเทศ ได้แก่ ในอินโดนีเซีย บริษัทจะร่วมทุน 49% กับพันธมิตรท้องถิ่นคือ MEDCO ถือหุ้น 51% เพื่อเข้าประมูลสร้างโรงไฟฟ้าในโครงการ Riau ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 250 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 350 ล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะยื่นประมูลในเดือนก.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) เพื่อซื้อหุ้นราว 30% ในโครงการ SUMSEL ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 900 เมกะวัตต์ ซึ่งจะตัดสินใจยื่นประมูลหรือไม่ภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวใกล้จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว รวมถึงยังมีแผนจะยื่นประมูลผลิตโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงในโครงการ JAVA3 ขนาด 800 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) ในช่วงปลายปีนี้

ส่วนโครงการในฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ แต่เบื้องต้นให้ความสนใจในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อน ,โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งคาดว่าจะเข้าไปถือหุ้นไม่เกิน 40% ,โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 6,980 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกำลังผลิตในประเทศราว 71% ส่วนที่เหลือเป็นกำลังการผลิตในต่างประเทศ ขณะที่เป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดให้ได้ 20% หรือประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ของกำลังการผลิตเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ในปี 66 จากปัจจุบันที่มีกำลังจากพลังงานทดแทนราว 12.85%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ