บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) มั่นใจปริมาณขายทั้งปี 59 เข้าเป้า 1.2 ล้านตัน หลังยอดขายในไตรมาส 1/59 พุ่งทำสถิติสูงสุด และไตรมาส 2/59 ยังดีต่อเนื่อง โดยผลประกอบการไตรมาส 2/59 คาดว่าจะพลิกกลับเป็นกำไรจากไตรมาสแรกที่ขาดทุนราว 165.63 ล้านบาท หลังจากราคายางพลิกฟื้นจากจุดต่ำสุดรอบ 7 ปี หรือสูงขึ้นเฉลี่ย 19% ซึ่งทำให้รายได้รวมเติบโตขึ้นด้วย ขณะที่บริษัทเตรียมงบลงทุน 2 พันล้านบาทเพื่อขยายกำลังผลิตยางแท่งอีก 2 แสนตัน/ปี มาที่ 2.4 ล้านตัน/ปี น่าจะเริ่มผลิตไตรมาส 4/59
เจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ STA เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายยางเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.2 ล้านตัน จาก 1.12 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยไตรมาส 1/59 มีปริมาณการขายแล้ว 3.63 แสนตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 19.9% จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2/59 ปริมาณการขายก็คาดว่าจะใกล้เคียงกัน เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/58 จากราคายางที่ตกต่ำทำให้ลูกค้ารอดูทิศทางของราคา ประกอบกับมีข่าวมาตรการจำกัดการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกยางหลัก ทำให้มีความกังวลว่าจะหาซื้อยางได้ยากขึ้น ทำให้มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาจำนวนมากตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ และเชื่อว่าจะยังต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ที่จะทยอยส่งมอบสินค้าหลังไดั้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าในช่วงเดือนมี.ค.
ขณะที่ราคาขายยางเฉลี่ยในไตรมาส 2/59 อยู่ที่ 1.37 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้นราว 19% จาก 1.15 เหรียญสหรัฐ/กก.ในไตรมาสแรก ก็จะหนุนให้รายได้ในไตรมาส 2/59 เติบโตได้กว่าไตรมาสแรกที่ทำได้ระดับ 1.68 หมื่นล้านบาทด้วย ส่วนปัจจุบันราคาขายยางอยู่ที่ 1.2 เหรียญสหรัฐ/กก.
"ไตรมาส 1/59 ราคายางธรรมชาติปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี และค่อย ๆ pick up ช่วงท้าย ๆ ไตรมาส ทั้งนี้เป็นไปตามราคาสินค้า commodity ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยไตรมาส 2 ที่ปรับขึ้น 19% จากไตรมาส 1 นั้นเป็นผลมาจากไตรมาส 2 เป็นช่วงปิดฤดูการกรีดยางของบ้านเรา บวกกับมาตรการจำกัดการส่งออกยาง ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐไม่แข็ง แต่มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่ง 4 ปัจจัยนี้ support ราคายางปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 2"เจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ กล่าว
เจ้าหน้าที่รายเดิม กล่าวว่า ในแง่ของผลประกอบการจึงมั่นใจว่าไตรมาส 2/59 จะพลิกเป็นกำไรสุทธิแน่นอนจากไตรมาส 1/59 ที่ขาดทุน 165.63 ล้านบาท เนื่องจากราคายางต่ำสุดรอบ 7 ปี
"กำไรไตรมาส 2 ทุกคนก็พอจะเข้าใจดีว่าพลิกเป็นกำไร เพราะผู้ประกอบการทุกคนซื้อวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำในไตรมาส 1 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยสูงขึ้นและปริมาณขายก็เพิ่มขึ้น ในแง่วอลุ่มขายปีนี้ดีกว่าปี 58 เพราะปี 58 อุตฯไม่เอื้ออำนวย ขายได้ 1.12 ล้านตัน ปี 59 น่าจะขายได้มากกว่า เพราะไตรมาส 1 ก็ขายได้ 3.6 แสนตันแล้ว ไตรมาส 2 ไม่น่าต่ำกว่า อย่างไรก็ดี ปกติไตรมาส 1 กับไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ขายดีที่สุด ซึ่งเป็นฤดูกาล แต่ปีนี้ไตรมาส 2 ยังขายดี ส่วนรายได้รวมปีนี้ประมาณการยากเพราะราคายางธรรมชาติเป็นไปตามราคาตลาดโลก ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์"
เจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 2 พันล้านบาท ตามแผนขยายกำลังการผลิตยาง แท่งอีก 2 แสนตัน/ปี เป็น 2.4 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตในไทยอีกประมาณ 2 แสนตัน/ปี ซึ่งจะมาจากโรงงานแห่งใหม่ หรือขยายกำลังการผลิตโรงเดิม
"โรงงานแห่งใหม่จะเป็นการซื้อที่ดินใหม่เลย ในจังหวัดใหม่ที่ไม่ใช่จังหวัดเดิม สร้างโรงงานใหม่ และสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นไลน์การผลิตใหม่ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะเป็นการทยอยขยายไปเรื่อย ๆ ตอนนี้รอตัวเลขซึ่งอยู่ระหว่าง revise ว่าจะเริ่มขยายการผลิตจากส่วนไหนก่อนดี"
การเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการยางธรรมชาติที่เติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 3-4% ซึ่งหากขยายกำลังการผลิตเร็วก็สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดในตลาดได้เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลกอยู่ที่ 12 ล้านตัน โดยบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 9-10% ซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สุดในโลก การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องยังช่วยให้บริษัทรักษาความเป็นผู้นำผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก
ปัจจบัน สัดส่วนรายได้มาจากการขายยางให้กับอุตยานยนต์สำหรับ replacement market (ตลาดทดแทน) ราว 70% ตลาดรถยนต์ใหม่ ราว 10% ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด รองเท้า หมอนสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงแม้อุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นหรือไม่ฟื้นก็ไม่กระทบต่อบริษัท เพราะส่วนใหญ่สินค้าบริษัทอยู่ในกลุ่มตลาดทดแทน
สัดส่วนรายได้ปัจจุบันมาจากการขายในประเทศ 15% ส่งออก 85% รายได้ตามสายผลิตภัณฑ์เป็นยางแท่ง 80% ยางแผ่นรมควัน 10% น้ำยางข้น 10%