บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) คงเป้ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานในปีนี้ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท หลังจากครึ่งแรกปีนี้ทำได้แล้ว 5.6 พันล้านบาท ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังพร้อมเดินเครื่องกลั่นน้ำมันเต็มขีดความสามารถหลังจากช่วงไตรมาสแรกหยุดซ่อมบำรุง 45 วัน อีกทั้งได้ธุรกิจเอทานอลที่จะเริ่มผลิตในสิ้นเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าเข้ามาเสริม รวมถึงยังมองหาธุรกิจพลังงานสีเขียวใหม่ เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทนอกเหนือจากธุรกิจโรงกลั่น ,ธุรกิจการตลาด และธุรกิจไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนการนำบมจ.บีพีซีจี (BCPG) ซึ่งทำธุรกิจไฟฟ้าเข้าตลาดหุ้นนั้นคาดจะระดมทุนได้ราว 5-6 พันล้านบาท
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCP กล่าวว่า บริษัทยัคงเป้าหมาย EBITDA จากการดำเนินงานในปีนี้ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท หลังจากช่วงครึ่งแรกปีนี้ทำได้ 5.6 พันล้านบาท โดยคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะกลั่นน้ำมันได้เฉลี่ย 1.1 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีการหยุดซ่อมบำรุง 45 วันในไตรมาสแรก ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะกลั่นน้ำมันเฉลี่ยได้ราว 9.6-9.8 หมื่นบาร์เรล/วัน ขณะที่ค่าการกลั่นน้ำมัน (GRM) ยังตึงตัว และราคาน้ำมันดิบดูไบ น่าจะยังทรงตัวระดับ 40-41 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเช่นในปัจจุบัน จากปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปยังคงมีออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจการตลาดยังคงรักษาฐานได้ดี หลังปริมาณการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันเติบโตอย่างมากท่ามกลางการแข่งขันที่สูง โดยปริมาณขายน้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 310-320 ล้านลิตร/เดือน จากเมื่อช่วง 4 ปีที่แล้วปริมาณขายเฉลี่ยอยู่ที่ 220 ล้านลิตร/เดือน ขณะที่ยังคงมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันเท่าเดิมที่ 1,075 แห่ง โดยยอดขายเฉลี่ยต่อสถานีบริการต่อเดือนสูงขึ้นมาที่ 5 แสนลิตร/สถานีบริการ/เดือน สูงกว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ระดับ 4.7-4.8 แสนลิตร/สถานีบริการ/เดือน พร้อมกันนี้จะรุกปรับปรุงธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในรูปแบบใหม่ที่จะเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/59
"ครึ่งปีแรกธุรกิจตลาดน่าตื่นเต้นที่สุด อาจดูเหมือนไม่เติบโตเพราะส่วนแบ่งตลาดเราอยู่ที่ 15% จากสิ้นปีที่แล้ว 14.9% ในสิ้นปีที่แล้ว ภาพรวมของตลาดที่เติบโตเยอะมาก ขณะที่รายใหญ่เกือบทุกรายสูญเสียมาร์เก็ตแชร์ แต่เรารักษามาร์เก็ตแชร์ไว้ได้ และมี growth มากกว่าตลาดด้วย"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ยังคงมีการผลิตเฉลี่ยระดับ 5 พันบาร์เรล/วัน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกยังมี EBITDA เป็นบวกราว 80 ล้านบาท และยังคงเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจไบโอดีเซล หลังสิ้นสุดการขยายกำลังการผลิตระยะ 2 แล้วเสร็จทำให้ตั้งแต่เดือนก.ค.สามารถผลิตได้ 8.1 แสนลิตร/วัน ส่วนธุรกิจเอทานอล ล่าสุดได้เข้าซื้อและบริหารโครงการเอทานอล ขนาด 1.5 แสนลิตร/วันเสร็จสมบูรณ์ในเดือนส.ค.นี้ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในสิ้นเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า
สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่ดำเนินการโดยบมจ.บีพีซีจี (BPCG) ซึ่งเป็นบริษัทลูกนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในช่วงปลายเดือนก.ย. เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปลายเดือนก.ย. ถึงต้นเดือนต.ค.นี้ โดยคาดว่าจะระดมเงินทุนได้ราว 5-6 พันล้านบาท เพื่อรองรับการขยายงานของ BCPG ที่ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าอีกราว 500-600 เมกะวัตต์ (MW) ก่อนสิ้นปี 63
ขณะที่ BCPG มีวงเงินกู้ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะคืนหนี้บริษัทแม่ 5 พันล้านบาท ทำให้คงเหลือวงเงินกู้ 5 พันล้านบาท เมื่อรวมวงเงินที่จะได้จาก IPO ราว 5-6 พันล้านบาท ทำให้มีเงินทุนสะสมราว 1 หมืนล้านบาท เมื่อผนวกกับศักยภาพในการกู้ที่จะทำได้อีก 3-4 หมื่นล้านบาท ก็เชื่อว่าจะทำให้ BCPG มีวงเงินสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท บวกกับ EBITDA ที่จะเข้ามาในแต่ละปี เพื่อรองรับการขยายงานดังกล่าว โดยไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากบริษัทแม่เลย
สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของ BCPG ยังคงให้ความสำคัญในประเทศเป็นหลัก แต่ก็มองหาโอกาสในต่างประเทศด้วยทั้งในอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิก แต่จะยังคงรูปแบบในการเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวในรูปแบบใหม่ ที่จะเป็นเครื่องยนต์ตัวที่ 4 ที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้แข็งแกร่ง นอกเหนือจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ,ธุรกิจตลาด และธุรกิจไฟฟ้า หลังจากธุรกิจทั้ง 3 แห่งดำเนินการได้เกือบเต็มศักยภาพแล้ว โดยโรงกลั่นปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นตามมาตรการ 3E ซึ่งมีทั้งการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น,การปรับปรุงเพื่อให้ยืดระยะเวลาการซ่อมบำรุงโรงกลั่นจากเดิมที่ต้องปิดซ่อมทุก 18 เดือน เป็น 36 เดือน ซึ่งจะช่วยให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามามากขึ้น รวมถึงการขยายกำลังการกลั่นเป็น 1.4 แสนบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งตามแผนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 63 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ในอนาคต
ขณะที่ธุรกิจตลาด แม้ปัจจุบันจะสามารถทำยอดขายได้ดีกว่าอุตสาหกรรม แต่ธุรกิจก็เริ่มตึงตัว ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศ ก็เริ่มขยายตัวได้ไม่มากนัก ทำให้มองหาธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่เข้ามาเสริม
"กำลังมองหา engine ตัวที่ 4 ด้วย ยังคงอยู่ในธุรกิจพลังงาน ที่ยังคงมีความเป็นบางจากที่เป็นสีเขียว จะสรุปเมื่อไหร่นั้นเราก็หวังว่าปีนี้น่าจะได้"นายชัยวัฒน์ กล่าว