ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ตลอดจนการเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก LDPE (Low-density Polyethylene) และ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) รายใหญ่ และการมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและปิโตรเคมี รวมถึงความเสี่ยงจากต้นทุนราคาถ่านหินที่ผันผวน ประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นของบริษัทหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และงบการเงินที่อ่อนแอลงจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงรวมถึงอัตรากำไรที่สูงจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าโดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreements -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Adder เป็นปัจจัยสนับสนุน รายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากสภาวะตลาดที่อ่อนตัวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และลดความผันผวนในธุรกิจเม็ดพลาสติก ซึ่งจะทำให้ผลกำไรมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากประวัติการดำเนินงานที่ยังสั้น สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel -- RDF) ขนาดใหญ่
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจเม็ดพลาสติกเอาไว้ได้เช่นเดิม ในขณะที่การดำเนินงานในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจะเริ่มมีความเสถียรมากขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการทำกำไรและขยายฐานกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแหล่งเงินกู้ยืมที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ของบริษัทกับสถาบันการเงินต่าง ๆ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกินกว่า 40% หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลานาน เหตุการณ์ เช่น ความล่าช้าของโครงการภาครัฐหรือผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ต่ำกว่าคาดก็อาจจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผลประกอบการของบริษัทรวมถึงอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ในขณะที่สถานะการเงินมีความเข้มแข็งมากขึ้นจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและภาระหนี้สินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่คงระดับอยู่ที่ประมาณ 15% และเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนซึ่งคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30% ได้
บริษัททีพีไอ โพลีนก่อตั้งในปี 2530 โดยตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ณ เดือนมีนาคม 2558 ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นประมาณ 56% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจเม็ดพลาสติก และธุรกิจพลังงานไฟฟ้า บริษัทมีรายได้ในปี 2558 อยู่ที่ 28,300 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็น 60% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจเม็ดพลาสติกและธุรกิจผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 20% และ10% ของรายได้ทั้งหมด ตามลำดับ
สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ หลังจากโรงงานปูนซีเมนต์สายการผลิตที่ 4 เริ่มเดินเครื่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 20% ตามกำลังการผลิต บริษัทมีสายการผลิตปูนซีเมนต์ที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป คอนกรีต กระเบื้องหลังคาคอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยความต่อเนื่องในสายการผลิตปูนซีเมนต์ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด
บริษัทยังเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA รายใหญ่ของประเทศด้วยกำลังการผลิต 158,000 ตันต่อปี ในปี 2558 บริษัทมีสัดส่วนทางการตลาดในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ LDPE อยู่ที่ 20% และเป็นผู้ผลิต EVA รายเดียวในประเทศ บริษัทเน้นการผลิต EVA เพื่อการส่งออกเป็นหลัก ธุรกิจเม็ดพลาสติกของบริษัทมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทซื้อวัตถุดิบ Ethylene จากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตลอดจนความท้าทายจากสินค้าทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการแข่งขันจากผู้ผลิตทั่วโลกด้วยเช่นกัน
ในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 150 เมกะวัตต์ในเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งโรงไฟฟ้าใช้ RDF และความร้อนทิ้งจากโรงงานปูนซีเมนต์เป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ของบริษัทจำนวน 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) โดยมีสัญญา PPA รวมทั้งสิ้น 73 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะมีสัญญา PPA เพิ่มอีก 90 เมกะวัตต์ก่อนที่โรงไฟฟ้าพลังเชื้อเพลิง RDF อีกโรงหนึ่งซึ่งมีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2560 อนึ่ง สัญญา PPA ทั้งหมดของบริษัทได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ระดับ 3.5 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 7 ปี
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางส่วนจากประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นหลังจากที่บริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ประวัติการผิดนัดชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในอดีตทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน
บริษัทได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา โดยบริษัทจะต้องรับรู้ค่าเสื่อมราคาของส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 1,300-1,400 ล้านต่อปีเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนของบริษัท การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2559 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีเพื่อลบค่าเสื่อมราคาและส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ออกหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Initial Public Offering -- IPO) ของ บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ที่วางแผนไว้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ทั้งนี้ คาดว่าส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์จะถูกทดแทนบางส่วนด้วยส่วนทุนที่เพิ่มขึ้นมาจาก IPO
ในไตรมาสแรกของปี 2559 ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นประมาณ 8,180 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เท่ากับ 12.3% เปรียบเทียบกับ 7.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 780 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 196% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ทั้ง 2 แห่งที่ขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. นั้นปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จาก ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น การหยุดซ่อมฉุกเฉินที่ลดลง และการคัดแยกขยะเพื่อผลิต RDF ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลการดำเนินงานของบริษัทในส่วนของธุรกิจเม็ดพลาสติกก็ค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวจากส่วนต่างราคา (Spread) ของ EVA ที่ขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปูนซีเมนต์ของบริษัทกลับอ่อนแอลงอันเนื่องมาจากอุปทานซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานปูนซีเมนต์สายการผลิตที่ 4 และการชะลอตัวของกิจกรรมการก่อสร้างในส่วนของภาคเอกชน บริษัทได้พยายามที่จะระบายปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยการเร่งส่งออกในรูปของสินค้าปูนเม็ด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธุรกิจปูนซีเมนต์จะมีปริมาณขายโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาเฉลี่ยของสินค้ากลับลดลงและส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานในธุรกิจนี้ถดถอยลงด้วยเช่นกัน
ในช่วงระหว่างปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งมีประมาณการพื้นฐานว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตถึง 38,000-40,000 ล้านบาทภายใต้สมมุติฐานว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ซึ่งมีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในต้นปี 2560 ตามแผน ในขณะที่ความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นหลังการเร่งอนุมัติโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ อัตรากำไรจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17%-19% จากอัตรากำไรที่สูงของธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะเติบโตในระดับ 4,500-5,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงด้านโครงสร้างทางการเงินของบริษัทสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทได้มีการลงทุนขนาดใหญ่ถึง 24,000 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2556-2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ที่ระดับ 41.7% ณ เดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าระดับที่ทริสเรทติ้งแนะนำไว้เล็กน้อย บริษัทมีหุ้นกู้รวมมูลค่า 29,500 ล้านบาทหรือประมาณ 75% ของเงินกู้ทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2559 และเพิ่มขึ้นเป็น 32,000 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2559 การพึ่งพาเงินทุนจากหุ้นกู้เป็นส่วนใหญ่ของบริษัทสะท้อนถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นทั้งในด้านการรีไฟแนนซ์และด้านสภาพคล่องที่อาจจะเกิดจากการชำระหุ้นกู้งวดเดียวทั้งจำนวน (Bullet Payment) ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทมีกำหนดครบชำระจำนวน 3,000 ล้านบาทในปี 2560 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000-5,750 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2564
อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มทุนจาก IPO ของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ภายในปี 2559 ได้สำเร็จ โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการลงทุนซึ่งประมาณการไว้ที่จำนวน 13,000-14,000 ล้านบาทและอีกส่วนหนึ่งจะนำไปทยอยใช้ชำระหนี้ ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจึงน่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 40% หรือต่ำกว่าในช่วงเวลาประมาณการ โครงการหลักที่บริษัทกำลังลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ มูลค่า 7,300 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ มูลค่า 3,300 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ มูลค่า 900 ล้านบาท โครงการขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิง RDF มูลค่า 1,450ล้านบาท และโครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งมูลค่า 730 ล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคอยควบคุมไม่ให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่าระดับ 40% เพื่อให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+" ที่บริษัทได้รับ การเลื่อนเสนอขายหุ้น IPO ในขณะที่บริษัทยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงยิ่งขึ้นและอาจทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตได้ ทั้งนี้ ในอีก 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและมีสัดส่วนมากกว่า 15% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่สูงกว่าระดับ 4 เท่าเมื่อโรงไฟฟ้าทั้งหมดเริ่มดำเนินการผลิตเต็มที่