นายคาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม กรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 59 ทั้งรายได้และผลการขาดทุนจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 4.27 พันล้านบาท และขาดทุน 2.42 พันล้านบาท หลังจากครึ่งแรกของปีนี้ทำรายได้ 1.79 พันล้านบาท และมีผลขาดทุน 1.68 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับแรงกดดันของดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) ที่มีแนวโน้มลดลง
ปัจจุบัน BDI อยู่ที่ระดับ 635 จุด ลดลงจากปีก่อนที่ 719 จุด เนื่องจากภาวะของอุตสาหกรรมการเดินเรือยังเผชิญกับปัญหาปริมาณเรือในตลาดมากเกินความต้องการใช้เรือเพื่อการขนส่งสินค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ อย่าง จีน ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมองแนวโน้ม BDI น่าจะยังใกล้เคียงหรือต่ำกว่า 635 จุดในปัจจุบัน หากสถานการณ์ที่เป็นปัญหากดดันหลักยังไม่คลี่คลาย แต่เชื่อว่ามีโอกาสที่ความต้องการใช้เรือในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะจากจีนที่ปกติจะมีการขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังค่อนข้างมาก
“ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ผลงานของเราทั้ง overall ยังคงไม่ดีจากปีที่แล้ว เพราะดัชนี BDI ยังอยู่ในระดับต่ำกดดัน จากภาวะโอเวอร์ซัพพลายด์ในตลาดที่เป็นปัจจัยหลักกดดันดัชนี BDI ส่วนของดีมานด์นั้นไม่ได้เป็นจจัยที่น่าเป็นห่วงมาก แม้ว่าครึ่งปีแรกดีมานด์จะชะลอตัว แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าดีมานด์น่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น
ในมุมมองของเราตัวแปรหลัก คือ เรื่องการปลดระวางเรือเป็นตัวแปรหลักที่จะส่งผลต่อดัชนี BDI ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าตลาดมีการปลดระวางเรือมาก ก็จะทำให้ดัชนี BDI สูงขึ้น แต่หากการปลดระวางเรือมีไม่มากดัชนี BDI ก็จะอยู่ในระดับต่ำต่อไป แต่เราก็มองว่าสถานการ์จะค่อยๆดีขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า และจะส่งผลดีต่อภาพรวมของบริษัทในปีหน้ามีโอกาสที่ดีขึ้นได้"นายคาลิด กล่าว
ขณะที่บริษัทจะพยายามรักษาระดับค่าระวางเรือเฉลี่ยในปีนี้ไม่ให้ต่ำกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 5,900 เหรียญ/ลำ/วัน โดยบริษัทจะเน้นการใช้เรือที่มีการบันทุกสินค้าได้ในปริมาณมาก เพื่อทำให้ค่าระวางเรือของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่าตลาด โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ค่าระวางเรือของบริษัทเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5,919 เหรียญ/ลำ/วัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5,914 เหรียญ/ลำ/วัน
ด้านกองเรือของบริษัทในสิ้นปีหน้าจะมีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ 38 ลำ จากปัจจุบันอยู่ที่ 41 ลำ โดยในส่วนของแผนซื้อเรือมือ 2 ซึ่งใช้เงินที่ต่ำกว่าการต่อเรือใหม่ จะซื้อเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้บรรทุสินค้าได้มากขึ้น และเกิดการประหยัดต่อขนาด