นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ปรับวงเงินแผนลงทุน 5 ปี (ปี 59-63 ) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300,000 ล้านบาท แม้จะลดงบลงทุนลงในปีนี้ก็ตาม โดยการลงทุนในช่วง 5 ปียังเน้นในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการลงทุนเพิ่มในส่วนของการขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 1 รวมถึงการขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/59 บริษัทได้ทบทวนแผนลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับลดแผนการลงทุนปี 59 จาก 50,839 ล้านบาท ซึ่งตั้งไว้เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลงเหลือ 43,307 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงมาที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยลดการลงทุนที่ไม่คุ้มทุนในสภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ เช่น การขยายกำลังการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มูลค่าราว 2.8-3 พันล้านบาท ,ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงราว 450 ล้านบาท จากบางโครงการที่เสร็จเร็วกว่ากำหนด ,การเลื่อนบางโครงการออกไปในปีถัดไป เช่น การติดต่อคอมเพรสเซอร์ของท่อส่งก๊าซฯในอ่าวไทย มูลค่าราว 3 พันล้านบาท เป็นต้น
แต่ในระยะต่อไป ปตท.ได้เพิ่มเติมแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าและคลัง LNG ที่ได้รับอนุมัติจากทางการให้ขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของคลัง LNG แห่งที่ 1 อีก 1.5 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท , คลัง LNG แห่งที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าระดับกำลังการผลิตระหว่าง 5 ล้านตัน/ปี หรือ 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งหากเป็น 7.5 ล้านตัน/ปี ก็จะต้องเพิ่มวงเงินลงทุนอีกจากแผน 5 ปีในปัจจุบันที่การทำคลัง LNG แห่งที่ 2 จะใช้เงินราว 4 หมื่นล้านบาท ,การขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯราว 1 พันล้านบาท ,แผนงานของธุรกิจน้ำมันที่จะมีการขยายคลังน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในอนาคตของ กลุ่ม ปตท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การดำเนินการที่ทำทันที (Do Now) โอกาสการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ (Decide Now) และ การแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน (Shape Now)
กลยุทธ์ที่กลุ่ม ปตท.สามารถดำเนินการได้ทันที คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารค่าใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทบทวนค่าใช้จ่ายหรืองบลงทุนดังกล่าวนั้นมิใช่จะต้องเป็นการลดค่าใช้จ่ายเสมอไป แต่ให้ความสำคัญกับการใช้เม็ดเงินหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด (Productivity Improvement Program) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งในด้านการสร้างรายได้ การลดต้นทุน และการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
สำหรับโอกาสการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจนั้น กลุ่ม ปตท.ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศได้แก่ ระบบท่อ คลังก๊าซฯและน้ำมัน ขยายธุรกิจที่มีความเชียวชาญสู่ต่างประเทศ เช่นขยายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกโดยใช้รูปแบบ Life Station เป็นต้นแบบ ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้การลงทุนในสายโซ่อุปทานของ LNG ที่คาดว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้า LNG มากขึ้นในอนาคต เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ปตท. ให้ความสนใจ โดยจะร่วมศึกษากับบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ผลิต LNG จากแหล่งปิโตรเลียมต่างประเทศ
ปตท.ยังพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน เช่น การหาพันธมิตรร่วมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) และธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอนที่ประสบความสำเร็จในประเทศก็ได้เริ่มขยายตลาดในลักษณะขายเฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชา และมีแผนขยายต่อไปยังประเทศฟิลิปปินส์ เมียนมา ญี่ปุ่น และโอมาน ในอนาคต เพื่อผลักดันแบรนด์ไทยก้าวสู่การเป็น Global Brand ต่อไป โดยตั้งเป้าเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนรวม 400 แห่งในปี 63
สำหรับการแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืนนั้น กลุ่ม ปตท.จะพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มของสังคมโลก พฤติกรรมการใช้พลังงานในอนาคต และทันตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคำนึงถึงกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่ออนาคต เช่น นโยบาย 5+5 คลัสเตอร์ของรัฐบาล โดยจัดตั้งหน่วยงาน ExpresSo (Express Solution) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์ คัดเลือกแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ จัดทำเป็นโมเดลธุรกิจต้นแบบ ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ก็จะนำมาต่อยอดขยายผลสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่อไป
โดยอาจจะมีการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบการร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เหล่านี้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าวงเงินจะอยู่ที่ราว 50-100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในหลาย ๆ โครงการ นอกเหนือจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้ต่อยอดเทคโนโลยีเป็น New S-Curve ใหม่ในอนาคต
ในด้านสังคม ปตท. มีแนวทางยกระดับการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ให้มีความยั่งยืนขึ้นโดยการสนับสนุนจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แสวงหาการลงทุนที่สามารถเลี้ยงตนเองได้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา เช่น โครงการปลูกไม้เมืองหนาวเพื่อช่วยพัฒนาวิถีเกษตรกร โครงการโรงไฟฟ้าขยะ และโครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชนสำหรับร้านคาเฟ่ อเมซอน เป็นต้น
"ปตท. มีความเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างความเข็มแข็งและการเติบโตให้กับกลุ่ม ปตท. และสังคมไทยควบคู่กันอย่างยั่งยืนต่อไป"นายเทวินทร์ กล่าว