นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การเปิดเดินรถสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน ต่ำกว่าประมาณการณ์ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารที่ 6-7 หมื่นคนต่อวันในปีแรกที่เปิดให้บริการ ซึ่งอาจจะมาจากการปรับตัวของประชาชนในการเดินทางรูปแบบใหม่ ปัญหาการเชื่อมต่อสถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ทำให้บางส่วนยังไม่เลือกใช้รถไฟฟ้าเดินทาง
ทั้งนี้ ในส่วนของชัตเตอร์บัสเชื่อมต่อสถานีนั้นมีผู้ใช้บริการประมาณ 1.2 หมื่นคนต่อวัน ซึ่ง รฟม.ได้เพิ่มจำนวนรถในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 15 คันเป็น 18 คัน ในภาพรวมยังเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนข้อบกพร่องในการเดินรถสายสีม่วงในเชิงเทคนิคยังมีอยู่บ้าง รฟม.น้อมรับ และได้ให้ทาง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เร่งปรับปรุงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ รฟม.จะพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อจูงใจให้มีผู้ใช้บริการสายสีม่วงเพิ่มขึ้น เช่น การทำโปรโมชั่นปรับลดค่าโดยสารลง โดยจะต้องพิจารณาอัตราที่จะจูงใจและรายได้ที่จะเข้ามาเพียงพอต่อการจ่ายค่าจ้างเดินรถให้ BEM ด้วย เนื่องจากเป็นสัญญา PPP Gross Cost รวมถึงหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อจัดระบบฟีดเดอร์จากชุมชนไปยังสถานีของสายสีม่วงให้มีความสะดวกมากขึ้น ขณะที่หากสามารถเชื่อมต่อสถานีได้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1 แสนคนต่อวัน
"ปัจจุบันผู้โดยสารของสายเฉลิมรัชมงคลมีประมาณ 2.6-2.7 แสนคนต่อวัน สูงสุดที่ 3 แสนคนต่อวัน โดยมีผู้โดยสารสายสีม่วง ป้อนเข้ามาเพิ่มอีกเกือบ 1 หมื่นคนต่อวัน แม้ว่าจะยังไม่เชื่อมต่อสถานี โดย รฟม.จะประเมินจำนวนผู้โดยสารของสายสีม่วงอีกประมาณ 1-2 เดือนจากนี้ก่อนที่จะกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ต่างๆ เพิ่มเติม"นายพีระยุทธ กล่าว
ขณะที่ นายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวว่า การเดินรถส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ตามมาตรา 44 นั้น คณะกรรมการ รฟม.ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และเสนอไปยังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว คาดว่า รมว.คมนาคม จะเห็นชอบเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรา 43 ของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และคณะกรรมการมาตรา 35 ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะประชุมร่วมนัดแรกในสัปดาห์หน้าเพื่อหารือถึงที่มา การดำเนินการโครงข่าย ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนต่อไป โดยมีเวลาพิจารณา 30 วัน จากนั้นจะเชิญ BEM มาเจรจา มีเวลาอีก 30 วัน
ขณะเดียวกันคณะกรรมการ รฟม.ได้อนุมัติให้ทำสัญญาจ้าง BEM แบบชั่วคราวในการเข้าไปติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณในส่วนเชื่อมต่อสถานีไปก่อน โดยได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. คาดว่าจะเร่งเปิดเดินรถเชื่อมต่อสถานีได้ในต้นปี 2560