บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) เคาะราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 74.99 ล้านหุ้น ที่ 16.00 บาท/หุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นในวันที่ 24-26 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 1 ก.ย.59
ในวันนี้บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) ได้แต่งตั้งผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมี บล.ธนชาต เป็นที่ปรึกษาการเงินและแกนนำการจัดจำหน่าย ร่วมกับ บล. เคที ซีมิโก้ บล.บัวหลวง และ บล.เอเซีย พลัส
นายแพทย์วชิระ วุฒิกุลประพันธ์ กรรมการผู้จัดการ RJH กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายกิจการของบริษัทฯ และบริษัท โรงพยาบาลราชธานี โรจนะ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการแพทย์ โดยบริษัทฯตั้งเป้าหมายเป็นโรงพยาบาลชั้นนำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคกลาง ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลราชธานี ได้รับการรับรองคุณภาพ Hospital Accreditation (HA) ขั้นที่ 3 เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาล แบ่งออกเป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป 49.7% และกลุ่มลูกค้าตามโครงการสวัสดิการด้านสุขภาพภาครัฐประมาณ 50.3% ซึ่งโรงพยาบาลมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าทั่วไปด้วยการพัฒนาศักยภาพในการรักษาพยาบาล โดยการเพิ่มจำนวนแพทย์และพยาบาล รวมถึงขยายขอบเขตการรักษาโรคเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนสูง ส่วนลูกค้ากลุ่มสวัสดิการภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประกันสังคม บริษัทฯ มีนโยบายมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนการให้บริการให้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องต่อรายได้เหมาจ่ายที่ได้รับจากโครงการประกันสังคม
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 58 รายได้รวมอยู่ที่ 1,034.91 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 63.77 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 1,075.70 ล้านบาท หนี้สินรวม 800.57 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 275.12 ล้านบาท ขณะที่งวดไตรมาส 1/2559 บริษัทฯมีรายได้รวม 298.14 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 39.01 ล้านบาท
ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ประกอบด้วย กลุ่มประสิทธิ์หิรัญ ถือหุ้น 73,526,382 หุ้น คิดเป็น 32.68% หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 24.64% รองลงมาเป็นกลุ่มวุฒิกุลประพันธ์ ถือหุ้น 32,647,299 หุ้น คิดเป็น 14.51% หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 11.05% ขณะที่กลุ่มรพ.วิภาราม ถือ 10.58 % หลังขายหุ้นเพิ่มทุนลดลงเหลือ 7.94 % และกลุ่ม รพ.ธนบุรี ถือหุ้น 9.43% หลังขายไอพีโอสัดส่วนหุ้นจะลดลงเหลือกลุ่มละ 7.07%บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) เคาะราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 74.99 ล้านหุ้น ที่ 16.00 บาท/หุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นในวันที่ 24-26 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 1 ก.ย.59
นายแพทย์วชิระ วุฒิกุลประพันธ์ กรรมการผู้จัดการ RJH กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการระดมทุนว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถรองรับการขยายธุรกิจของรพ.ได้อีก 5 ปี โดยตั้งเป้ารายได้รวมในระยะ 5 ปีนี้ เติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% จากปี 58 ที่รายได้ 1,034.91 ล้านบาท
ในระยะสั้นจะนำเงินที่ได้ไปก่อสร้างอาคารผู้ป่วยแห่งใหม่ มูลค่าลงทุน 600-700 ล้านบาท เป็นอาคาร 9 ชั้น จำนวน 120 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยชำระเป็นเงินสดทั้งหมด คาดว่าจะเปิดบริการได้ปี 62 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนผู้ป่วยเป็นเงินสด 60% สวัสดิการประกันสังคม 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 50:50
อีกจำนวน 50 กว่าล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกิจการของบริษัท โรงพยาบาลราชธานี โรจนะ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯที่ถือหุ้น 52% ซึ่งบ.รพ.ราชธานี โรจนะ จะทำการเพิ่มทุนเราก็จะใส่เงินเพิ่มทุนตามสัดส่วน 52%
"เราอยากจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้ได้มากที่สุด โดยมองที่ 75% ก็จะ secure เพราะรพ.ราชธานี โรจนะ ที่ RJH ไปซื้อมาขาดทุนมาตลอด โดยปี 57 ขาดทุน 50 ล้านบาท ปี 58 ขาดทุน 30 ล้านบาท และครึ่งแรกปี 59 ยังขาดทุน 8 ล้านบาท แต่ผลการดำเนินงานก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เราเข้าไปซื้อกิจการมา โดยคาดว่าจะเป็นกำไรสุทธิในปี 60 เราจึงอยากจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น แต่ยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 ราย คือรพ.ธนบุรี และรพ.วิภารามที่ถือหุ้นอยู่ใน รพ.ราชธานี โรจนะ ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 2 รายก็คงจะใช้สิทธิเพิ่มทุนด้วย โดยเพิ่มทุนเพื่อขยายห้องตรวจ เพิ่มเตียงคนไข้ ขยายห้องผ่าตัด"
ส่วนการซื้อกิจการรพ.อื่นๆ ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเจรจา แต่ก็ดูไปเรื่อยๆ เพราะการซื้อกิจการรพ.ที่ขาดทุนมา 1 แห่ง อย่าง รพ.ราชธานี โรจนะ และเข้าไปทำให้มีกำไรก็ถือว่าเหนื่อยซึ่งต้องใช้เวลาราว 3 ปี สำหรับการขยายธุรกิจมองทั้ง 2 แนวทางคือซื้อกิจการซึ่งถ้าซื้อที่ขาดทุนก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูราว 2-3 ปี เหมือนกับการสร้างรพ.ใหม่กว่าจะคืนทุนก็ 2-3 ปีเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการครึ่งหลังปี 59 คาดว่าจะสามารถกำไรสุทธิได้มากกว่าครึ่งแรกที่ 70 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 3 เป็นไตรมาสที่ดีสุดของธุรกิจรพ.รายได้พีคสุด ซึ่งก็เชื่อว่าจะมีกำไรทั้งปีมากกว่าปี 58 ที่ 63 ล้านบาท เพราะครึ่งแรกได้มากกว่าทั้งปี 58 แล้ว
ในส่วนของรายได้รวมปีนี้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าเติบโต 10-15% จากปีก่อนที่ 1,035 ล้านบาท โดยครึ่งแรกมีรายได้ 580 กว่าล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ หลังอาคารผู้ป่วยแห่งใหม่เสร็จปี 60 จะทำให้รพ.มีจำนวนเตียง 473 เตียง จากรพ.เดิม 253 เตียง รพ.ราชธานี โรจนะ 100 เตียง และอาคารใหม่ 120 เตียง
นางสาวพิมพ์ผกา นิจการุณ กรรมการผู้จัดการธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหุ้น RJH ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยจากการสำรวจจากความต้องการซื้อของนักลงทุนสถาบัน (Book Building) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่ามียอดจองล้น 12 เท่า ซึ่งสาเหตุที่นักลงทุนให้ความสนใจ เนื่องจากมองว่าบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตสูงจากการขยายกิจการและการให้บริการทางด้านการแพทย์ที่ครบวงจร ประกอบกับภาพรวมของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเป็นที่สนใจของนักลงทุนอยู่แล้ว เพราะนอกจากการขยายตัวจากภายในประเทศแล้วยังได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีอาเซียนด้วย
นายพายุพัด มหาผล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ RJH เปิดเผยว่า ราคา IPO ที่ 16 บาท/หุ้น เมื่อคำนวณศักยภาพในอนาคตที่จะเจนเนอเรทรายได้และกำไรเข้ามาในปี 60 ได้ PE 29 เท่า ไม่สูงเท่า PE กลุ่มรพ.ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 35-40 เท่า ซึ่งกลุ่มรพ.เป็นกลุ่มที่ PE อยู่ในช่วงที่สูงสุดในตอนนี้เพราะมองอนาคตมั่นคง มีรายได้แน่นอนไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ รายได้ไม่เหวี่ยง
"ช่วงราคาอยู่ที่ 14-16 บาท จากที่นักลงทุนจองล้น 12 เท่า เราเคาะที่ราคาสูงสุด 16 บาท ดิสเคาน์ 20 กว่า % จากราคาเฉลี่ยบทวิเคราะหี่ให้มูลค่า 20-22 บาท หรือเฉลี่ย 21 บาท/หุ้น โดยขยายนักลงทุนสถาบันในประเทศ 45% ที่เหลือเป็นรายย่อย พนักงาน แพทย์"นายพายุพัด กล่าว
นายพายุพัด กล่าวว่า ปัจจุบันบล.ธนชาต มีลูกค้าที่เป็น IPO ในมืออีก 3-4 บริษัท เป็นกลุ่มโรงพยาบาลทั้งหมด โดยจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยคาดว่าจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในปีนี้อีก 1 บริษัท แต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าซื้อขายทันปีนี้หรือไม่ ส่วนที่เหลือทยอยเข้าเทรดในปี 60 นอกจากนี้ ยังมีงานปรับโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างบริษัท และงานที่ปรึกษาเข้าซื้อกิจการ (M&A) อีกหลายดีล
"ที่เราโฟกัสหุ้นโรงพยาบาลเพราะมีดีมานด์สูง Performance ดี รายได้ไม่เหวี่ยง พื้นฐานมั่นคง"นายพายุพัดกล่าว