นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ปรับเพิ่มเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผน 5 ปีเพิ่มเป็น 250 เมกะวัตต์ (MW) จากเดิมที่ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 หลังจะเข้าลงทุน 45% ในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่งประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนจากขยะ ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 106 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตจะมีโรงไฟฟ้าจากขยะเข้ามาเพิ่มได้อีกราว 30-50 เมกะวัตต์ เพราะการเข้าร่วมลงทุนกับ SP ในครั้งนี้ ก็ยังหาโอกาสศึกษาการลงทุนในโครงการอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย สำหรับโครงการแรกที่ SP มีแผนจะดำเนินการนั้นจะยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 8 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนนทบุรี คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ปี 62
สำหรับผลประกอบการของบริษัทจากนี้ไปคาดว่ากำไรสุทธิจะทำนิวไฮต่อเนื่องไปอีก 4 ไตรมาส นับจากไตรมาส 3/59 เป็นต้นไป จากไตรมาส 2/59 ที่มีกำไรสุทธิ 50 ล้านบาท เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากการที่โรงไฟฟ้าใหม่ทยอย COD เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส โดยในไตรมาส 3 นี้มีโรงไฟฟ้าที่จะ COD เพิ่ม 10 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้วอยู่ที่ 40 เมกะวัตต์ และปี 60 จะ COD อีก 20 เมกะวัตต์ และปี 61 จะ COD อีก 20 เมกะวัตต์
โดยโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ขนาด 9.2 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1/60 และโรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ ขนาด 9.2 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 2/60 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตขึ้นต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน
สำหรับการลงทุนต่างประเทศในเดือนก.ย.นี้บริษัทจะลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับสปป. ลาว เพื่อจะเข้าศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ กำลังการผลิตราว 80 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนเองทั้ง 100% นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำจากเขื่อนขนาดเล็กอีก 2 เขื่อน โดยคาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ หากสรุปได้ก็อาจจะเห็นรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในปี 62
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครบทุกสัญญา ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะรับซื้อจำนวน 36 เมกะวัตต์ โดยจะมีการประกาศผลในวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) ขณะที่กลุ่มบริษัทได้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคทุกโครงการที่ได้ยื่นเสนอไปรวม 4 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 37.7 เมกะวัตต์
สำหรับแหล่งเงินลงทุนในโไม่มีปัญหาเพราะมีเงินสดในมือราว 1,100 ล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก ( IPO) รองรับการลงทุนได้ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งถ้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะจำนวน 305 ล้านบาท ก็ยังเหลือเงินสดอีก และปัจจุบันมีหนี้ต่อทุนต่ำมาก เพียง 0.58 เท่า
ปัจจุบันบริษัทมีกองทุนเข้ามาถือหุ้นราว 10-15% ขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง