บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลงานสร้างทางวิ่งอากาศยาน (รันเวย์) ที่ 3 และอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ภายใต้โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ได้ภายในไตรมาส 3/60 ซึ่งเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมราว 10 เดือน ส่วนโครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมืองเฟสที่ 3 คงเป็นแนวทางการลงทุนด้วยตัวเองแทนการร่วมทุนสายการบินเอกชน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการ AOT เปิดเผยว่า บริษัทปรับเลื่อนเวลาการดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ Perimeter Taxiway งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) งบประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ทั้งสองโครงการ อยู่ระหว่างออกข้อกำหนดเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบ โดยคาดว่าจะเงื่อนไขการประมูลงานออกแบบทั้งสองงานได้ใน 2-3 เดือน และหลังจากออกแบบเสร็จซึ่งใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน ระหว่างนี้ก็รอผลการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ (EHIA) ด้วย
"ทอท.คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลทั้ง 2 โครงการได้ในไตรมาส 3/60 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมประมาณ 10 เดือน จะทำให้อาคารผู้โดยสาร 2 เปิดเร็วขึ้นเป็นปี 64 จากกำหนดการเดิมเปิด 65 และรันเวย์เปิดปี 63" นายนิตินัยกล่าว
ในส่วนอาคารผู้โดยสาร 2 จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคน/ปี จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสาร 90 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันที่รองรับได้ 45 ล้านคน/ปี แต่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการ 52-53 ล้านคน/ปี ทั้งนี้ ในปี 62 จะเพิ่มการรองรับได้ถึง 60 ล้านคน/ปีหลังโครงการแล้วเสร็จ ซึ่ง ทอท.มีแผนดำเนินการก่อสร้างคู่ขนานกับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 (ปีงบประมาณ 54-60)
สำหรับงานก่อสร้างในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมินี้ ทอท.ได้บริหารจัดการการดำเนินงานโดยแบ่งเป็น 7 งาน โดยได้ทยอยเปิดการประมูลและยื่นซอง ตั้งแต่เดือนมิ.ย.59 และมีการเสนอราคางานจ้างก่อสร้างแล้ว 3 งาน ได้แก่ (1) งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) ได้ผู้รับจ้าง คือ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) โดยมีราคาค่างานจ้างก่อสร้างทั้งสิ้น 12,050.4 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เริ่มวันที่ 15 ก.ย.59 กำหนดเวลา 780 วัน
(2) งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ได้ผู้รับจ้าง คือ กิจการค้าร่วม เอส จี แอนด์ อินเตอร์ลิ้งค์ ซึ่งมีราคาค่างานจ้างก่อสร้างทั้งสิ้น 1,980 ล้าน บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) เริ่มงาน 15 ก.ย.59 ใช้เวลา 990 วัน
และ (3) งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ได้ผู้รับจ้าง คือ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SCS Consortium มีราคาค่าควบคุมงานก่อสร้างทั้งสิ้น 879.98 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7)กำหนดเวลา 39 เดือน เริ่มงาน 1 ก.ย. นี้
นายนิตินัย ระบุว่า ผลการประมูลราคาทั้ง 3 งานสามารถประมูลได้ต่ำกว่าราคากลางเป็นเงิน 1,655 ล้านบาท เมื่อรวมกับการปรับลดราคา 7,391 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต่ำกว่ากรอบงบประมาณ 9,046 ล้านบาท คิดเป็น 14.5% จากงบประมาณโครงการที่ครม.อนุมัติ ในวงเงิน 62,503.21 ล้านบาท
ส่วนสัญญาจ้างก่อสร้างอีก 4 สัญญาจะดำเนินการในขั้นตอนการเปิดการประมูลต่อไป ได้แก่ งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) (CC1/2) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือน พ.ย.60, งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก (CC2) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือนมี.ค. 60
งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) (CC4) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนม.ค.60 และงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) (CC5) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือนส.ค.60 ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) จะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในเดือน พ.ย.62
นอกจากนี้ ทอท.มีแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งในช่วง 10 ปี งบลงทุน 1.9 แสนล้านบาท โดยช่วง 5 ปีแรก จะเป็นการลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3 โครงการใหญ่ ใช้งบ 1.1 -1.2 แสนล้านบาท นอกนั้นเป็นการลงทุนขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ที่ใช้งบประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท จะเริ่มดำเนินการงบประมาณปี 60 หรือ ต.ค. 59 และลงทุนขยายท่าอากาศยานภูเก็ตเฟส 2
ทั้งนี้ วงเงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาท ทอท.จะนำเงินจากการดำเนินการไปลงทุนซึ่งคาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ปีละ 2 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี รวม 1 แสนล้านบาท ประกอบกับบริษัทมีเงินสดในมืออยู่ 5.7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 61 เงินสดในมืออาจจะไม่พอต่อการลงทุน ซึ่งอาจจะใช้เงินกู้ระยะสั้น
นายนิตินัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าร่วมพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองของเอกชนว่า จากที่ฝ่ายบริหาร ทอท.ทบทวนแผนแม่บทโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน เฟส 3 แล้ว การออกแบบขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 มีความเหมาะสม และ ทอท.จะลงทุนเองทั้งหมด โดยสภาพโดยรวมทั้งทางกายภาพ การจราจรทางอากาศและการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นไปอย่างสอดคล้องกัน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้กลุ่มแอร์เอเชียได้เสนอตัวที่เข้าร่วมพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเสนอก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ทอท.ออกแบบตั้งคาร์โก้ และหากสร้างอาคารผู้โดนสารใหม่จะทำให้การสร้างหลุมจอดอากาศยานน้อยลง ขณะที่แผนกำหนดเพิ่มจำนวนหลุมจอดเป็น 148 หลุมจอดจากปัจจุบันมี 101 หลุม ซึ่งมีเพียง 27-30 หลุมที่ใช้หมุนเวียน นอกนั้นจะเป็นการจอดข้ามคืน
"ยุทธศาสตร์เราต้องการเป็น Hub การบิน ดูทางกายภาพประเทศไทยเหมาะสมแล้ว เรา concern เรื่อง capacity ส่วนเรื่องเงินไม่ได้ห่วง" นายนิตินัย กล่าว