โบรกเกอร์เทใจเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์(BJC) พร้อมปรับเพิ่มเป้าหมายราคาพื้นฐานหลังเข้าซื้อกิจการ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ด้วยต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าคาดจากเดิม 4-5% มาอยู่ที่ 3.2-3.7% ของมูลค่าการเข้าซื้อกิจการประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ประกอบกับ การเพิ่มทุนนำมารีไฟแนนซ์หนี้ และหันมาออกหุ้นกู้แทน
ทั้งนี้ มองว่า BJC ได้ประโยชน์จากการ Synergy ครั้งนี้ ซึ่งผู้บริหาร BJC คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเข้ามาอีก 1.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหาร BIGC ที่ยกเลิกการขายสินค้าที่ไม่ทำกำไร และยกเลิกการใช้คูปองส่วนลดแบบทั้งตะกร้าจะสามารถเพิ่ม EBITDA margin ที่จะส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว
พร้อมกันนั้น โบรกเกอร์ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 59-60 จากต้นทุนเข้าซื้อกิจการ BIGC ต่ำกว่าคาด และ ภาระหนี้ลดลงจากการเพิ่มทุน ทำให้เห็นกำไรในช่วงครึ่งหลังปีนี้เติบโตกว่าครึ่งปีแรกอย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะมีกำไรในครึ่งหลังปีที่ 2.6 พันล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีกำไร 972 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 59 คาดว่ากำไรของ BJC จะเติบโตราว 27-28% จากปีก่อนที่มีกำไร 2,792 ล้านบาท และในปี 60 คาดว่าจะมีกำไรเติบโต 90-105% มาที่ 7,288 ล้านบาท หลังจากรับรู้ฯกิจการ BIGC เต็มที่
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) โนมูระพัฒนสิน ซื้อ 55 ฟินันเซียไซรัส ซื้อ 54 เมย์แบงก์กิมเอ็ง ซื้อ 52 บัวหลวง ซื้อ 52 เออีซี ซื้อ 50
น.ส.สุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ปรับเพิ่มเป้าหมายราคาหุ้น BJC จาก 42 บาท เป็น 54 บาท เพราะเห็นว่าต้นทุนการเข้าซื้อ BIGC ทั้งดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายทำดีลต่ำกว่าคาด จากเดิม 4.5% ของมูลค่าการเข้าซื้อกิจการประมาณ 2.1 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ราว 3.2-3.7% ทำให้โอกาสที่ BJC จะคืนทุนได้เร็วขึ้น และมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น
ในไตรมาส 1/59 BJC เริ่มเข้าควบรวมในเดือน มี.ค.มีสัดส่วนถือหุ้น 58.55% และในไตรมาส 2/59 โดยในเดือน พ.ค.บริษัทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จบ ทำให้ BJC เข้ามาถือ BIGC ในสัดส่วน 98% โดยในไตรมาส 3/59 BJC จะรับรู้รายได้จาก BIGC เต็มสัดส่วนที่ถือ 98% โดยรายได้จาก BIGC คิดเป็น 75% ของรายได้รวม
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/59 BJC ได้รับเงินเพิ่มทุนเข้ามา 8.4 หมื่นล้านบาท ไปชำระหนี้ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ BIGC ยังเหลือหนี้อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่ง BJC มีแผนจะออกหุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาทในเดือนก.ย.นี้เพื่อ Refinance และหนี้ที่เหลืออีก 8 หมื่นล้านบาทบริษัทจะกู้เงินระยะสั้นก่อน หลังจากนั้นบริษัทจะออกหุ้นกู้มาใช้คืน โดยไตรมาส 1/60 มีแผนออกหุ้นกู้ 4 หมื่นล้านบาท และไตรมาส 3/60 จะออกหุ้นกู้อีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อ Refinance ดังนั้น BJC จะมีต้นทุนการเข้าซื้อต่ำ โดยปี 60 คาดว่าจะมีต้นทุนการเงิน 3.2% และปี 61 จะมีต้นทุนการเงินประมาณ 3.7%
นอกจากนี้ BJC ตั้งเป้าจะได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ (Synergy) จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,700 ล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 59-61) โดยปี 59 จะมีรายได้เข้ามา 300-400 ล้านบาท ปี 60 เพิ่มเป็น 600 ล้านบาท จากนั้นในปี 61 ประมาณ 900 ล้านบาท
น.ส.สุรีย์พร กล่าวว่า จากการเข้าซื้อกิจการ BIGC จะทำให้ BJC มีการเติบโตอย่างมาก โดยคาดว่ากำไรในครึ่งปีหลังอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท เติบโตกว่าครึ่งแรกของปีนี้ที่มีกำไร 972 ล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาส 3/59 คาดว่าจะมีกำไร 2 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยน 1.3 พันล้านบาท และในไตรมาส 4/59 เป็นช่วงไฮซีซั่นของทั้ง BJC และ BIGC
ทั้งปี 59 คาดว่าจะมีกำไรอยู่ที่ 3,561 ล้านบาท หรือเติบโต 27.6% จากปีก่อนที่มีกำไร 2,792 ล้านบาท และในปี 60 คาดว่าจะมีกำไรเติบโต 105% มาที่ 7,288 ล้านบาท
ด้าน บล.บัวหลวง มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มของ BJC แม้ว่าจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อ BIGC แต่กำไรไตรมาส 2/59 จะไม่แย่อย่างที่เคยกังวล การเติบโตในระยะกลางถึงระยะยาวดูสดใสหนุนโดยผลประโยชน์จากการควบรวมกิจการ BIGC และโอกาสในการขยายตัวทั้งในประเทศกัมพูชา, ลาว, เวียดนามและไทย จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ" ด้วยราคาเป้าหมายที่ 52 บาท ณ สิ้นปี 59
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา BIGC ได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายโดยหันมามองที่คุณภาพของการขายมากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งของตลาด โดยบริษัทได้ยกเลิกการขายสินค้าที่ไม่ทำกำไรและยกเลิกการใช้คูปองส่วนลดแบบทั้งตะกร้า ซึ่งใช้ในการดึงดูดผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น ส่วนแบ่งการตลาดของ BIGC ในตลาดค้าส่งจะค่อย ๆ ลดลงไป ซึ่งส่งผลให้บริษัทคาดว่ายอดขายสาขาเดิมจะลดลง 5-10% จนถึงเดือนพ.ค.60
อย่างไรก็ตาม BIGC เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ในครั้งนี้จะสามารถเพิ่ม EBITDA margin ถึงประมาณ 50-100 bps เป็นราว 11.4-11.9% ในปี 59 จากเป้าหมายเดิมที่ 11.4% ในมุมมองของเรา เราคาดว่าการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อกำไรของ BIGC ในระยะสั้น เนื่องจากอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถหักลบกับยอดขายที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าในระยะยาวจะดีกว่าเนื่องจาก BIGC จะมีแต่ลูกค้าประจำที่มีคุณภาพ
ผู้บริหารแสดงความมั่นใจถึงเป้าหมายผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการควบรวมกิจการที่ 1.7 พันล้านบาท ว่าจะประสบความสำเร็จภายในปี 62 ข่าวดีคือว่าผลประโยชน์ดังกล่าวเริ่มเกินขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/59 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาส 4/59 โดยผลประโยขน์นี้จะช่วยเพิ่ม EBITDA อีกประมาณ 300 ล้านบาทในปี 59 และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 600 ล้านบาท ในปี 60, 1.2 พันล้านบาท ในปี 61 และถึง 1.7 พันล้านบาท ในปี 62
"แม้ว่าการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ของ BIGC จะส่งผลกระทบต่อกำไรในระยะสั้น แต่เรายังคงคาดว่ามีโอกาสที่ประมาณการณ์กำไรจะถูกปรับขึ้นได้เนื่องจากปัจจัยดังนี้ 1) ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการควบรวมกิจการกับ BIGC ซึ่งอาจจะรับรู้ได้เร็วและมากกว่าคาด และ 2) การรีไฟแนนซ์เงินกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ดังนั้นเรายังคงคำแนะนำที่ "ซื้อ"ด้วยราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 59 ที่ 52.00 บาท" บทวิเคราะห์บล.บัวหลวงระบุ
ด้าน บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรตั้งแต่ปี 59 เฉลี่ยปีละ 9.5% เพื่อสะท้อนต้นทุนการเงินช่วงไตรมาส 2/59 ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งสะท้อนว่า BJC กู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ดังนั้น จึงปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงจากเดิมที่คาด 5.0% เป็น 3.7% ส่งผลให้ภายใต้ประมาณการใหม่คาดปี 59 คาด BJC มีกำไรปกติ 3,509 ล้านบาท โต 79.2%YoY แต่ในแง่ Norm EPS จะลดลง 28.5%YoY ตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นหลังเพิ่มทุน ก่อนกลับมาโต 90.0% ในปี 60 หลังมีการรับรู้ผลดำเนินงานเต็มปีของ BIGC
ส่วนธุรกิจเดิมคาดยังเห็นการเติบโตหลังมีการคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นและมีแผนขยายกำลังการผลิตธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อรองรับดีมานด์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งคาดหลังควบรวมเสร็จจะเกิด Synergy จากมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในสินทรัพย์ที่มีอยู่