นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การบินไทยได้จัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี รวมจำนวน 12 ลำ โดยเป็นการสั่งซื้อ 4 ลำ และเช่าซื้อ 8 ลำ เครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดของโลก และยังเป็นเครื่องบินรุ่นล่าสุดของตระกูลเครื่องบินลำตัวกว้างที่ทรงประสิทธิภาพ มีความสะดวกสบายและทันสมัย โดยเมื่อวานนี้ (30 ส.ค. 59) บริษัทได้รับมอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นลำแรก จากบริษัท แอร์บัส ณ ศูนย์ส่งมอบเครื่องบินของแอร์บัส (Airbus Delivery Centre) เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และวันนี้ (31 ส.ค.59) ได้มาถึงไทยแล้ว
ทั้งนี้ การบินไทยจะนำมาทำการบินในเส้นทางบินข้ามทวีปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงบิน ด้วยการจัดหาเครื่องบินใหม่ ทดแทนการปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุ การใช้งานมานาน และเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการเจริญเติบโต ของบริษัทฯ ตลอดจนใช้ทำการบินเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทาง ที่มีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่น
นายจรัมพร กล่าวว่า เครื่องบินแอร์บัส A350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบีลำแรกนี้ การบินไทยจะนำไปบินทดสอบ ในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-ภูเก็ต ช่วงวันที่ 3 ก.ย.-15 ก.ย. 59 จากนั้น ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 59 จะนำมาให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ทุกวัน
ทั้งนี้ ในปี 59 การบินไทยจะรับมอบรวม 2 ลำ (เดือนส.ค.และต้นเดือนต.ค.) ซึ่งจะเป็นเครื่องที่เช่าซื้อ ส่วนในปี 60 จะรับมอบอีก 5 ลำ เป็นเช่าซื้อ 2ลำ และ ซื้อ 3 ลำ ปี ในปี 61 รับมอบอีก 5 ลำ เป็นเช่าซื้อ 2ลำ และซื้อ 3 ลำ ซึ่งสาเหตุที่มีการเช่าซื้อถึง 8 ลำ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องการให้ส่งมอบภายใน 5 ปี เพื่อให้พอดีกับระยะเวลาในการปลดระวางเครื่องบิน แม้ว่า การซื้อจะทำให้การวางแผนในด้านราคาดีกว่า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ต้องการนำเข้ามาให้บริการกับเส้นทางบินที่เครื่องบินจะถูกปลดระวาง เป็นการรักษาเส้นทางการบินที่ดีไว้
"เครื่องบินที่รับมอบปีนี้ การบินไทยเช่าซื้อ จึงไม่มีปัญหาด้านการเงิน ขณะที่ปี 60 จะต้องเตรียมจัดหาเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อชำระค่าเครื่องบิน จำนวน 2 ลำที่ซื้อตรง โดยภาพรวมไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของการบินไทยแต่อย่างใด"นายจรัมพร กล่าว
เครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ลำแรกของการบินไทย นามพระราชทาน “วิเชียรบุรี" ได้ติดตั้งเครื่องยนต์โรลส-รอยซ์ รุ่นเทรนท์ เอ็กซ์ดับเบิลยูบี (Rolls-Royce Trent XWB) การออกแบบลำตัวและปีกทำจากวัสดุคอมโพสิตแบบคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบา โครงสร้างปีกภายในจะถูกปรับขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละตัวแปร ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางการบินดีขึ้น ลดเสียงรบกวน อีกทั้งยังปรับปรุงกลไกสำหรับสปอยเลอร์บนปีกโดยคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินจะดำเนินการผ่านการคำนวณค่าของตัวแปรต่างๆ ที่จะถูกปรับให้เหมาะกับเงื่อนไขของแต่ละเที่ยวบินที่มีความแตกต่างกันทั้งสภาพอากาศ ระยะทาง น้ำหนักระวางบรรทุก สภาพของสนามบินปลายทาง
โครงสร้างของลำตัวเครื่องบินประกอบไปด้วยวัสดุโลหะน้ำหนักเบา เช่น ไททาเนียมและโลหะผสมอะลูมิเนียมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ในการรับและทนต่อแรงต่างๆ ขณะทำการบิน นอกจากนั้นยังใช้วัสดุ ที่แข็งแกร่งทนทาน Reinforced Plastic (CFRP) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทคาร์บอนไฟเบอร์ใหม่ทั้งหมด ทำให้ลำตัวของเครื่องบินมีความคงทนแต่มีน้ำหนักเบาขึ้น ทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรลส-รอยซ์ รุ่นเทรนท์ เอ็กซ์ดับเบิลยูบี (Rolls-Royce Trent XWB) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการเผาผลาญเชื้อเพลิงได้อย่างคุ้มค่า ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 25%และช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องบินในขนาดเดียวกันถึง 25% จึงช่วยลดต้นทุนในการบำรุงรักษาอย่างมาก
เครื่องบินแอร์บัส เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี มีการตกแต่งห้องโดยสาร ด้วยแนวคิดแบบไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary) และมีระบบแสง ที่สามารถปรับได้ตามบรรยากาศ (Mood Lighting) ด้วยแสงแอลอีดีที่สร้าง เฉดสีได้ถึง 16.7 ล้านเฉดสี พื้นที่เหนือศีรษะถูกขยายสัดส่วนเพื่อลดความ อึดอัด ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะมีขนาดใหญ่ขึ้น ขนาดของบานกระจกหน้าต่างกว้างขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกผ่อนคลาย ตลอดการเดินทาง นอกจากนั้นยังถูกออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นในทุกระดับชั้นของการบริการ โดยพื้นที่สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจกว้างขวางนั่งสบายมากขึ้น และที่นั่งในชั้นประหยัดยังเพิ่มพื้นที่ในการวางเท้าได้มากกว่าเครื่องบินในระดับชั้นเดียวกัน โดยรองรับผู้โดยสารทั้งหมด 321 ที่นั่ง แบ่งเป็น
ที่นั่งรอยัล ซิลค์ คลาส (Royal Silk Class) ที่นั่งผู้โดยสารชั้นธุรกิจ รอยัล ซิลค์ คลาส จำนวน 32 ที่นั่ง ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแบบส่วนตัวสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ โดยจัดวางให้มีระยะห่างระหว่างแถวที่นั่ง 41-46 นิ้ว แต่ละที่นั่งมีความกว้าง 21 นิ้ว สามารถปรับเอนนอนราบได้ 180 องศา การเดินเข้า-ออก จากที่นั่งสามารถทำได้อย่างเป็นอิสระในทุกที่นั่ง ซึ่งจะไม่รบกวนผู้โดยสารในที่นั่งติดกัน รวมทั้งทุกที่นั่งมีการติดตั้งจอโทรทัศน์ระบบสัมผัสขนาด 16 นิ้ว ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระบบสาระบันเทิงที่ทันสมัย เพื่อการฟังเพลง ชมภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และเล่นเกมส์ รวมถึงบริการ Wi-Fi เพื่อผู้โดยสารสามารถใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารของตนเอง และปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ
ที่นั่งชั้นประหยัด (Economy Class) ที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัด จำนวน 289 ที่นั่ง มีระยะห่างระหว่างแถวที่นั่ง 32 นิ้ว แต่ละที่นั่งมีความกว้าง 18 นิ้ว ติดตั้งจอโทรทัศน์ระบบสัมผัสขนาด 11 นิ้ว ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระบบสาระบันเทิงที่ทันสมัย เพื่อการฟังเพลง ชมภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และเล่นเกมส์ รวมถึงบริการ Wi-Fi เพื่อผู้โดยสารสามารถใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารของตนเอง และปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ
ทั้งนี้ การบินไทยมีแผนที่จะนำเครื่องบินแอร์บัส เอ 350 เอ็กซ์ ดับเบิลยูบี ลำดังกล่าวไปทำการบินในเส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้ ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินตระกูลแอร์บัสประจำการในฝูงบินที่เป็นเครื่องบินใหม่ รวมจำนวน 23 ลำ ทำให้การบินไทยมีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่องมาอย่างสม่ำเสมอ มอบความสะดวกสบายและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี ซึ่งการบินไทยได้รับการยอมรับจากผู้โดยสารทั่วโลกถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นเลิศได้รับการยืนยันจากรางวัลระดับนานาชาติ มาโดยตลอด
นายจรัมพร กล่าวว่า ปี 58 บริษัทได้ปลดระวางไปถึง 38 ลำ และในปี 60 จะมีการปรับปรุงห้องโดยสาร ที่นั่ง ระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน โบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A330 เพื่อให้มีบริการมาตรฐานที่ทันสมัย ซึ่งเครื่องบินใหม่ หรือการปรับปรุงเครื่องเดิมให้ทันสมัย จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของการบินไทยเพิ่มขึ้น