(เพิ่มเติม) EGCO คาดกำไรดำเนินงานปีนี้ไม่ต่ำกว่า 8 พันลบ.สูงกว่าปีก่อน,ขยับเพิ่มรายได้ตปท.-พลังงานทดแทน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 2, 2016 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานปี 59 จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาทจากระดับ 7.9 พันล้านบาทในปีก่อน หลังมีปัจจัยหนุนหลักจากการเปิดดำเนินการผลิตของโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ขนาด 970 เมกะวัตต์ (MW) ที่เปิดดำเนินการเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงการรับรู้รายได้เพิ่มของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ สตาร์ เอนเนอร์ยี่ ในอินโดนีเซีย ที่ได้รับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเข้าถือหุ้นเพิ่มในโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค ที่ฟิลิปปินส์ เป็น 49% จากเดิม 41% ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลม ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในดือนธ.ค.59

“กำไรจากการดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาทในปีนี้ เราจะยังดำเนินการเพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งเราจะใช้กลยุทธ์ทั้งในส่วน greenfield และ brownfield และการซื้อสินทรัพย์ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อให้รับรู้รายได้ได้ทันที"นายชนินทร์ กล่าว

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ EGCO มีกำไรจากการดำเนินงานราว 4.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 23 โรง รวม 4,049 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ,ลาว ,อินโดนีเซีย ,ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย และมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 โครงการ รวม 941 เมกะวัตต์

นายชนินทร์ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 62 จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วเพิ่มเป็นราว 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศและในประเทศเป็น 50:50 จาก 33:67 ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนกำไรจากต่างประเทศและในประเทศ จะอยู่ที่ระดับ 50:50 ในปี 61-62 จากระดับ 42:58 ขณะนี้

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้วางเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 30% จากระดับ 16% ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้น รวมถึงในไทยด้วย ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีแนวโน้มลดลง

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าของบริษัทที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 โครงการยังคงเป็นไปตามแผน โดยโรงไฟฟ้าชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จะเริ่มผลิตในเดือนธ.ค.59,โรงไฟฟ้าทีเจ โคเจน จะเริ่มผลิตในเดือนมิ.ย.60 ,โรงไฟฟ้าทีพี โคเจน และเอสเค โคเจน จะเริ่มผลิตในเดือนต.ค.60 ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค หน่วยที่ 3 ในฟิลิปปินส์ จะเริ่มผลิตในกลางปี 62 ,โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซานบัวนาเวนทูรา ในฟิลิปปินส์ จะเริ่มผลิตในเดือนต.ค.62 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในลาว จะเดินเครื่องผลิตในเดือนต.ค.62

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการต่างประเทศ แบ่งเป็น โครงการในลาว 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 1 ขนาด 650 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทถือหุ้น 25% คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในต้นปี 60 และจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 64 และจ่ายไฟฟ้ากลับมาไทยได้ในปี 65 ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ขนาด 912 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทถือหุ้น 30% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอนุมัติจากทางลาว คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 68-69 โดยทั้ง 2 โครงการนับว่าอยู่ในแผนเดิมที่รัฐบาลไทยจะซื้อไฟฟ้าจากลาวตามกรอบบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) 7,000 เมกะวัตต์

โครงการในอินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ สตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยาย สำหรับหน่วยที่ 3 และ 4 กำลังการผลิตหน่วยละ 60 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการอื่น ๆ ในอินโดนีเซียด้วย , โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กวางจิ ขนาด 1,220 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ,โครงการโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในเมียนมา รวมถึงการมองหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนขนาดเล็กในเมียนมาด้วย

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองถึงโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศ 2 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หน่วยผลิตใหม่ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยผลิตใหม่ อีกราว 500-1,000 เมกะวัตต์ หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 2 แห่งของเอกชน มีแนวโน้มจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ตามเป้าหมายตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP2015) ที่ในปีนี้จะต้องจ่ายไฟฟ้า 270 เมกะวัตต์ และอีก 270 เมกะวัตต์ในปีหน้า รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของ กฟผ.มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนอีก 1 ปี แต่การจะดำเนินการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ต้องมีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาอนุมัติก่อน

สำหรับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้น บริษัทถือหุ้น 50% นั้น มีศักยภาพที่จะสร้างหน่วยผลิตใหม่ขึ้นได้ โดยปัจจุบันการศึกษาสร้างหน่วยผลิตใหม่นั้นได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่วนโรงไฟฟ้าขนอมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงนั้น ยังมีศักยภาพที่จะสร้างหน่วยผลิตใหม่ได้เพิ่มเติม เนื่องจากยังมีปริมาณก๊าซฯเพียงพอและมีสายส่งเพียงพอที่จะรองรับการดำเนินการได้

นอกจากนี้ EGCO ยังจะเสนอรัฐบาลว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะลงทุนในเรื่องแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy storage) เนื่องจากบริษัทร่วมทุนในฟิลิปปินส์ คือ บริษัท AES จากสหรัฐฯมีเทคโนโลยีและได้ลงทุนในหลายพื้นที่ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และฟิลิปปินส์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ