(เพิ่มเติม) BCPG กำหนดช่วงราคา IPO ที่ 9.80-10.00 บาทก่อนสรุปราคา 12 ก.ย. ระดมทุนขยายกำลังผลิตหนุนกำไรเพิ่มปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 6, 2016 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ในเครือ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 590 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 9.80-10.00 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท ขณะที่เตรียมเคาะราคา IPO ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ก่อนจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของ BCP ที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นในวันที่ 14-16 ก.ย.และจัดสรรให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นในวันที่ 19-20 ก.ย.59 โดยคาดว่าจะทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนก.ย.นี้

และในวันนี้ BCPG แต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายหุ้น IPO ได้แก่ บล.กสิกรไทย บล.ทิสโก้ และ บล.ฟินันซ่า เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และแต่งตั้ง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย), บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล.เคที ซิมิโก้ และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดจำนห่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ครั้งนี้

ทั้งนี้ BCPG จะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทมีเป้าหมายภายในปี 63 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีหน้าอีกราว 52-62 เมกะวัตต์ (MW) นั้นจะช่วยหนุนให้กำไรสุทธิในปีหน้าเพิ่มขึ้นจากปีนี้ด้วย

"ภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนช่วงนี้เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอะไร เพราะ BCPG เป็นหุ้นพื้นฐานดี เป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกทั้งในและต่างประเทศ และมี cash flow ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วในไทยที่เปิดดำเนินการแล้ว 118 เมกะวัตต์ ก็จะสร้าง cash flow ได้อย่างต่อเนื่อง และมีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นที่จะทยอย COD ได้ตามแผนจากปัจจุบันที่กำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น COD แล้ว 20 เมกะวัตต์"นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ BCPG กล่าว

นายแมนพงศ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้า BCPG จะทำการสำรวจความต้องการซื้อหุ้นจากผู้ลงทุนสถาบัน (Book Building) ก่อนจะสรุปราคาเสนอขายหุ้น IPO ในต้นสัปดาห์หน้า

ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCPG กล่าวว่า การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทจะสรุปในช่วงบ่ายของวันที่ 12 ก.ย.นี้ ซึ่งการจัดสรรหุ้น IPO นั้นจะจัดสรรราว 11.69% ให้กับผู้ถือหุ้น BCP ขณะที่ราว 30-40% เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่วนที่เหลือเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งหากได้ตามเป้าหมายคาดหวังว่านักลงทุนสถาบันจะเข้ามาถือหุ้นราว 25% ของหุ้นทั้งหมด จากที่เสนอขายทั้งหมด 29.6% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 1,000 MW ภายในปี 63 โดยการลงทุนจะเป็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งที่เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างการพัฒนา

ทั้งนี้ มองโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ,พลังงานความร้อนใต้พิภพ ,พลังงานลม ,โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ,โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งกำลังผลิตติดตั้งตามเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 63 นั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่มาจากต่างประเทศ ที่บริษัทให้ความสนใจทั้งในญี่ปุ่น เอเชียเหนือ ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงปัจจุบันยังอยู่ระหว่างพิจารณาดีลลงทุนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หลายโครงการ มีกำลังการผลิตรวม 500-1,000 เมกะวัตต์ด้วย

สำหรับในญี่ปุ่น ยังมีโอกาสลงทุนมากหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 80 กิกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนแล้วราว 30 กิกะวัตต์ อย่างไรก็ตามการลงทุนใหม่ในญี่ปุ่นอาจจะได้รับค่าไฟที่ต่ำลง แต่บริษัทอาจจะมองหาการลงทุนในโครงการที่ได้รับสัญญาค่าไฟฟ้าแล้วในช่วง 36-40 เยน/หน่วย

นายบัณฑิต คาดว่ารายได้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากระดับ 3 พันล้านบาทในปีก่อน ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ที่ในปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่COD จากญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ แต่ในส่วนกำไรยังไม่สามาถระบุได้จากปีที่แล้วที่ทำได้ระดับ 2 พันล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนมากทั้งในส่วนของการจัดตั้งบริษัท ค่าที่ปรึกษา เป็นต้น

ขณะที่ในปี 60 คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอีกราว 52-62 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 12 เมกะวัตต์ ที่จะต้อง COD ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 120 ล้านบาท และการผลิตไฟฟ้าจากญี่ปุ่น ที่จะ COD เพิ่มขึ้นอีก 40-50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้าง EBITDA ได้อย่างน้อย 500 ล้านบาท ทำให้สิ้นปี 60 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากญี่ปุ่นที่ COD แล้วเพิ่มเป็นราว 70 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน BCPG มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 418 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 324 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 182 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตตามสัญญารวม 130 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตและจ่ายไฟฟ้าตามสัญญาแล้ว 118 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 12 เมกะวัตต์

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 236 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังผลิตตามสัญญารวม 194 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิตและจ่ายไฟฟ้าตามสัญญาแล้ว 20 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนาที่จะทยอยเข้าระบบในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ