นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม.เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วงต้นปี 60 เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายงานทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านตามเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีการกระจายหุ้นราว 30% ของทุนจดทะเบียน และเตรียมประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในเร็ว ๆ นี้
"เราอยู่ระหว่างเตรียมการเรื่องนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ เร็ว ๆ นี้ก็จะประกาศ FA ได้ อาจจะเข้าได้ประมาณต้นปีหน้า ล่าช้าจากแผนเดิมที่จะเข้าปีนี้เพราะเรามีบริษัทลูกจำนวนมาก"นางปรียนาถ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ราว 30% โดยจะเป็นหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด เพื่อระดมทุนใช้คืนหนี้และก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตในมือแล้วและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งหมด 2,383 เมกะวัตต์ จาก 42 โรง ขณะที่ปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 1,627 เมกะวัตต์ จาก 28 โรง ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้โครงการ (project finance) 75% และส่วนทุน 25%
สำหรับในปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิกว่า 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 585 ล้านบาทในปีที่แล้ว ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นราว 385 เมกะวัตต์ รวมถึงต้นทุนก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าลดลงกว่าที่คาดการณ์ และภาวะเศรษฐกิจไม่ได้แย่กว่าที่คาด โดยช่วงครึ่งปีแรกทำกำไรสุทธิได้แล้วราว 1.8 พันล้านบาท เติบโต 150% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และในช่วง 5 ปีข้างหน้าคาดว่ารายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตตามกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มขึ้น 46.5% มาที่ 2,383 เมกะวัตต์ในปี 64 ซึ่งจะทั้งโรงไฟฟ้าจากในไทยและต่างประเทศทั้งลาว และเวียดนาม โดยในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 24-30% จาก 7% ในปัจจุบัน
ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในมือรวมทั่วภูมิภาคอาเซียนเป็น 5,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของ MOU หรือ LOI โดยยังไม่จำเป็นต้องได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งจะมาจากการเข้าซื้อโครงการที่มีอยู่แล้ว หรือการเข้าประมูลโครงการใหม่ โดยบริษัทให้ความสนใจทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร,โรงไฟฟ้าชีวมวล ในประเทศ ส่วนต่างประเทศสนใจโครงการโซลาร์ในเมียนมา,โซลาร์รูฟท้อป ในฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่ใกล้จะหมดอายุใน 3-5 ปีข้างหน้านั้น ขณะนี้บริษัทได้รับอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทน 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 ที่จะหมดอายุในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 และโรงไฟฟ้าบี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 โรงจะหมดอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยบริษัทจะสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนแห่งละ 140 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ดังกล่าวรวมอยู่ในงบลงทุน 5.9 หมื่นล้านบาทที่จะใช้ในช่วง 5 ปีข้างหน้าแล้ว
อนึ่ง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้นทั้งหมดโดยกลุ่มบี.กริม มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 28 โรง ทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 15 โรง,โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 12 โรง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 โรง โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,627 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำรวม 350 ตัน/ชั่วโมง โดยโรงไฟฟ้า SPP ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี อมตะซิตี้ ในจ.ระยอง ซึ่งมีลูกค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ขณะที่มีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 11 โครงการ รวมประมาณ 821.5 เมกะวัตต์ทั้งจากโครงการทั้งในประเทศ และโครงการพลังน้ำในลาว ซึ่งหากแล้วเสร็จตามแผนจะทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% จาก 1% ในปีนี้ที่มาจากโรงไฟฟ้าอมตะซิตี้ เบียนหัว (เวียดนาม) แห่งเดียว