(เพิ่มเติม) PDI รุกแผนขยายโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นหวังหนุนผลงานหลังหยุดผลิตสังกะสี,ตั้งงบปี 59-60 ลงทุน 1.5 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 8, 2016 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เปิดแผนรุกธุรกิจโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นหลังมีในมือแล้ว 13 เมกะวัตต์ (MW) เตรียมหาเพิ่มอีก 22 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 3.2 พันล้านบาท คาดสรุปดีลภายใน 1 เดือนจากนี้ราว 2 เมกะวัตต์ ชูเป็นหนึ่งในฐานรายได้หลักนอกเหนือจากธุรกิจแมททีเรียล หลังจากจะปิดเหมืองแม่สอดกลางปีและเตรียมหยุดผลิตสังกะสี พร้อมผันตัวเป็นผู้นำเข้าโลหะสังกะสีเพื่อดูแลฐานลูกค้าเก่าแม้จะสร้างมาร์จิ้นได้ไม่มาก โดยพร้อมนำเข้าตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป

นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ ของ PDI กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วงปี 59-60 ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ทดแทนธุรกิจสังกะสี ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในญี่ปุ่น ,ธุรกิจแมททีเรียล และธุรกิจอีโค โดยเฉพาะธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นนั้น มองว่าให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ใกล้เคียงกับโซลาร์ฟาร์มในประเทศที่บริษัทเห็นว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก

“เรายังมีโครงการที่มีศักยภาพและกำลังพัฒนาในญี่ปุ่นอีก 2 โครงการ รวม 22 เมกะวัตต์ เงินลงทุนจะอยู่ที่ราว 3.2 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการทำ due diligence ซึ่งภายใน 1 เดือนข้างหน้าจะสรุปได้ 1 โครงการ ขนาด 2 เมกะวัตต์ ถ้าจบได้โครงการนี้ก็พร้อมที่จะเริ่มผลิตได้ในไตรมาสแรกปีหน้า ส่วนที่เหลือเป็นโครงการขนาดใหญ่ 20 เมกะวัตต์คงใช้เวลาอีกนาน"นายฟรานซิส กล่าว

นายฟรานซิส กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นที่อยู่ในมือแล้ว 13 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 1.9 พันล้านบาท ส่วนนี้จะเป็นเงินกู้โครงการ (project finance) ราว 80% ส่วนอีก 20% เป็นเงินลงทุนของบริษัท แบ่งเป็น โครงการนานาโอะ ขนาด 2 เมกะวัตต์ จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน ก.ย.นี้ และโครงการโนกาตะ ขนาด 11 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/60 ทั้งหมดนี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทราว 170 ล้านบาท/ปี

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างทำการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) รวม 22 เมกะวัตต์นั้น แบ่งเป็น โครงการเรียวชิยา ขนาด 2 เมกะวัตต์ ซึ่งหากจบดีลนี้ได้ใน 1 เดือนข้างหน้าก็จะสามารถเริ่ม COD ได้ในไตรมาส 1/60 และโครงการคาซาโน ขนาด 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/61

ด้านธุรกิจแมททีเรียล เป็นการดำเนินธุรกิจจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการรีไซเคิล ระยะแรกจะเป็นการรีไซเคิลฝุ่นเหล็กเพื่อแยกโลหะสังกะสี แต่ในอนาคตบริษัทมีเทคโนโลยีที่จะใช้วัตถุดิบจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เพื่อมาแยกโลหะอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ โดยโครงการนี้เป็นการร่วมทุนกับบริษัท คาร์บอน รีดักชั่น เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศนอร์เวย์ และจะใช้พื้นที่ตั้งในโรงงานเดิมที่จ.ระยอง เป็นฐานการผลิต มีมูลค่าลงทุนราว 1.5 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 61

ส่วนธุรกิจอีโค เป็นการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งระยะแรกจะเป็นการฝังกลบกากอุตสาหกรรมในพื้นที่โรงงานผลิตโลหะสังกะสีของบริษัทในจ.ตาก เพื่อบำบัดกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายอย่างน้อย 5 หมื่นตัน/ปีในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ คาดจะใช้เงินลงทุนระยะแรกราว 300 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการต้นปี 62 โดยโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัท โดวา โฮลดิ้งส์ จำกัด จากญี่ปุ่น

นายฟรานซิส กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนจะนำเข้าโลหะสังกะสี เพื่อมาจำหน่ายเพื่อดูแลฐานลูกค้าในประเทศ ทดแทนการที่บริษัทจะต้องหยุดผลิตโลหะสังกะสี ซึ่งจะดำเนินการภายใต้บริษัท พีดีไอ เมทัลส์ จำกัด โดยจะเริ่มนำเข้าตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ มีเป้าหมายการนำเข้าสูงสุดที่ระดับ 5 หมื่นตัน/ปี แม้ความต้องการใช้ในประเทศที่มีมากถึงราว 1.5 แสนตัน/ปีก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าเป็นระดับที่ควบคุมตลาดได้ เพราะการทำธุรกิจเทรดดิ้งนี้จะสร้างมาร์จิ้นได้ไม่มากนัก

ขณะที่การดำเนินธุรกิจโลหะสังกะสีนั้น ขณะนี้ได้หยุดการผลิตแร่จากเหมืองแม่สอดแล้วเมื่อกลางปีนี้ แต่ยังคงมีปริมาณแร่คงเหลือที่จะใช้ผลิตโลหะสังกะสีได้ต่อเนื่องสำหรับปีนี้จนถึงต้นปีหน้าจำนวน 8 หมื่นตัน ขณะที่ราคาโลหะสังกะสีโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าระดับ 2,200 เหรียญสหรัฐ/ตันนั้น หากสถานการณ์ยังคงดำเนินการเช่นนี้ต่อไปก็คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยทั้งปีในช่วงปี 59-60 ด้วย ซึ่งบริษัทจะมีรายได้หลักจากธุรกิจสังกะสี และจากปี 60 เป็นต้นไปจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่

ทั้งนี้ PDI คาดว่ารายได้ปี 59 จะใกล้เคียงระดับ 4.87 พันล้านบาทในปีที่แล้ว จากปริมาณการขายและราคาขายโลหะสังกะสีที่ใกล้เคียงกัน โดยปริมาณขายโลหะสังกะสีในปี 58, 59 และ 60 คาดว่าจะอยู่ในระดับราว 7 หมื่นตัน/ปี ซึ่งในปี 60 จะมีโลหะสังกะสีจากในประเทศเพื่อจำหน่ายราว 2.5-3 หมื่นตัน และเป็นการนำเข้าโลหะสังกะสีราว 3-5 หมื่นตัน

นายปรานซิส กล่าวอีกว่า การหยุดทำธุรกิจแร่สังกะสีและโลหะสังกะสีในประเทศนั้น ทำให้บริษัทต้องลดพนักงานลงเหลือราว 100 คนในสิ้นปี 60 จากระดับ 850 คนในต้นปี 59 โดยใช้เงินเพื่อปรับลดพนักงานราว 400 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทแล้วเนื่องจากได้มีการบันทึกค่าใช้จ่ายดังกล่าวตั้งแต่ปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ