นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งตัวลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่ก็ปรับตัวลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯปรับตัวลงเช่นกัน ภายหลังจากที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ทั้งไม่ลดดอกเบี้ย และไม่มีการขยายระยะเวลาการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ดังนั้น Sentiment จากต่างประเทศอาจส่งผลมาถึงตลาดหุ้นไทยด้วย
ส่วนปัจจัยในประเทศก็ยังกังวลเรื่องเดิม ๆ อย่างไรก็ดี หากดัชนีฯลงมาต่ำกว่าระดับ 1,450 จุด ก็มีโอกาสที่มีแรงซื้อกลับเข้ามาบ้าง เนื่องจากสัปดาห์นี้ตลาดฯได้ปรับตัวลงไปเกือบ 5% แล้ว และสัญญาณทางเทคนิคก็เข้าเขต Oversold ด้วย อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาราคาน้ำมันก็ดีดตัวแรงหลังจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯได้ปรับตัวลงมาก
พร้อมให้แนวรับ 1,440-1,430 จุด ส่วนแนวต้าน 1,470-1,475 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (8 ก.ย.59) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,479.91 จุด ลดลง 46.23 จุด (-0.25%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,259.48 จุด ลดลง 24.45 จุด (-0.46%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,181.30 จุด ลดลง 4.86 จุด (-0.22%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 35.60 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ ลดลง 0.52 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 5.43 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ ลดลง 45.52 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ ลดลง 14.79 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ ลดลง 16.18 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ ลดลง 0.26 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 11.68 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (8 ก.ย.59) 1,455.38 จุด ลดลง 31.82 จุด (-2.14%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 645.27 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ก.ย.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ต.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (8 ก.ย.59) ปิดที่ 47.62 ดอลลาร์/บาร์เรล พุ่งขึ้น 2.12 ดอลลาร์ หรือ 4.7%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (8 ก.ย.59) ที่ 6.09 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.77/78 แนวโน้มอ่อนค่าต่อ ไร้ปัจจัยใหม่หลัง ECB คงดอกเบี้ย-QE ตามเดิม
- รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 8 ก.ย.นี้ ธปท.ได้เข้าดูดซับสภาพคล่องในระบบการเงินภายหลังจากเข้าดูแลค่าเงินบาทผ่านการรับซื้อเงินเหรียญสหรัฐ จนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1.93 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากเมื่อต้นปีมีทุนสำรองที่ 1.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.24 แสนล้านบาท (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.50 บาท)
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค. 2559 พบว่ามีค่าดัชนีอยู่ที่ 73.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 72.5 เป็นปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากประชาชนเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองหลังลงประชามติ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ปัญหาภัยแล้งคลายตัวล้วนเป็นปัจจัยบวก
- ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 183 เสียง เห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาประชุมเพียงแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
- ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศคงมาตรการทางการเงินในระดับเดิม จากเมื่อเดือน มี.ค. โดยคงอัตราดอกเบี้ย 3 ตัวหลัก ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝากที่ ระดับติดลบ 0.4% ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ 0% ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ที่ 0.25% และคงมาตรการซื้อคืนสินทรัพย์ (คิวอี) วงเงิน 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน (ราว 3 ล้านล้านบาท) สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2560 โดยให้เหตุผลเบื้องต้นว่า ต้องการรอดูผลกระทบของการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) มากกว่านี้ก่อน
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ล่าสุด ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า จำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยกู้ใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 3,518 ยูนิต ลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 36.3%
*หุ้นเด่นวันนี้
- BBL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้าปีหน้า 200 บาท laggard กลุ่มมาตั้งแต่ต้นปี เพราะความกังวลต่อการปล่อยกู้และค้ำประกันในธุรกิจสื่อสารและทีวีดิจิตอล ซึ่งหลายกรณีมีความชัดเจนไปแล้ว เหลือเพียงการปิดตัวของ CTH ซึ่งมีมูลหนี้กับ BBL ราว 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 56 (ปัจจุบันยอดคงค้างน่าจะลดลงแล้ว) หากอิงหลักประกันที่ 50% คาดกระทบมูลค่าทางบัญชีเพียง 3 บาท/หุ้น ขณะที่กำไรครึ่งปีหลัง คาดว่าดีกว่าครึ่งปีแรก แต่เพราะการตั้งสำรองสูงทั้งปีทำให้กำไรปีนี้ -7.5% และคาดเติบโตช้าๆ +4.6% ในปีหน้า ราคาหุ้นปัจจุบันมี PBV ปี 60 ต่ำเพียง 0.8 เท่า
- BLA (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 51 บาท แนวโน้มกำไรใน 2H59 ดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะเน้นการขายประกันแบบคุ้มครองสุขภาพและออมหลังเกษียณ ลดน้ำหนักการขายประกันระยะสั้นที่แม้จะเป็นที่นิยม แต่มีอัตรากำไรต่ำ และมีความเป็นไปได้ที่ BLA จะกลับรายการสำรองส่วนเกินที่เหลืออีกราว 800 ล้านบาทใน 3Q59 โดยยังคงคาดกำไรปีนี้ +31% จากการตั้งสำรองเบี้ยประกันลดลง ปีหน้า +9% และมีโอกาสดีกว่าคาดถ้าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
- PTT (โกลเบล็ก) เป้า 357 บาท Sentiment เชิงบวกจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้น และคาดกำไรปี 59 ที่ 9.07 หมื่นล้านบาท +355%YoY จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซมีแนวโน้มผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯ และมีโรงไฟฟ้าเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งบริษัทวางแผนขยายท่าเรือก๊าซธรรมชาติเหลวเป็น 10 ล้านตัน ขยายแนวท่อก๊าซฯ และเปิดสถานีจำหน่ายน้ำมันในเมียนมา ลาว กัมพูชาเพิ่มเติม และมีแผนนำธุรกิจ Non-oil ส่วน Retail เข้าจดทะเบียนในตลท.
- CPF (ยูโอบี เคย์เฮียน) คาดผลประกอบการจะสูงที่สุดในช่วง 3Q59 เนื่องจาก 1) ราคาไก่ที่อยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากการนำเข้าไก่จากญี่ปุ่น และผลกระทบของการห้ามนำเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์จากสหรัฐตั้งแต่ต้นปี 2558 จากโรคระบาดไข้หวัดนก 2) ธุรกิจกุ้งที่เริ่มฟื้นตัว และ 3) ราคาอาหารสัตว์ที่คงที่