นายศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) ผู้ให้บริการและดำเนินงานด้านการทำเหมืองแร่ครบวงจร กล่าวว่า บริษัทยังคงแผนการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หลังได้ยื่นแบบเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของก.ล.ต. คาดว่าจะสามารถนับหนึ่งไฟลิ่งได้เร็ว ๆ นี้ และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดฯได้ภายในไตรมาส 4/59 โดยใช้ชื่อย่อว่า SQ
บริษัทจะเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 380 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท/หุ้น คิดเป็น 33.63% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ลงทุนเครื่องจักรขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยปีนี้จะใช้งบลงทุนราว 400 ล้านบาท และในปีหน้า จะใช้ราว 4,000 ล้านบาท เพื่อรองรับในโครงการเหมืองแม่เมาะ โครงการที่ 8 และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและใช้คืนหนี้ระยะยาวบางส่วน อย่างไรก็ตามการลงทุนเครื่องจักรใหม่ จะส่งผลต่อกำลังการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 ล้านคิว/ปี
สำหรับผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้ 1,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 56 มีรายได้ที่ 1,900 ล้านบาท ปี 57 ที่ 1,600 ล้านบาท และปี 58 ที่ 1,900 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัทมาจากงาน 2 ส่วน คือ งานขุดดินเพื่อเปิดหน้าเหมือง โดยทางผู้ว่าจ้างจะวัดปริมาณดินที่ขุดได้เป็นจำนวนลูกบาศก์เมตร เพื่อนำมาคำนวณรายได้ ส่วนที่สอง คือ งานขนถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งวัดปริมาณถ่านหินเป็นจำนวนตัน เพื่อนำมาคำนวณรายได้
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) รวมทั้งสิ้นราว 36,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งานขุด-ขนดินและถ่านหิน ในโครงการเหมืองแม่เมาะ โครงการ 7 ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง SQ และพันธมิตร ราว 2,800 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 12 ปี (ปี 51-63) และโครงการเหมืองแม่เมาะ โครงการ 8 ที่ได้มีการเริ่มงานมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ราว 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี (ปี 59-68) อีกทั้งโครงการเหมืองหงสา ที่มีอยู่อีกประมาณ 11,000 ล้านบาท มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 12 ปี (ปี 58-69) โดยงานในมือดังกล่าวจะเป็นการทยอยรับรู้รายได้ตามสัญญาของแต่ละโครงการในสัดส่วนที่เท่ากัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสเข้าไปประมูลงานเพิ่มเติมอีกในโครงการเหมืองแม่เมาะ และโครงการเหมืองหงสา โดยโครงการต่าง ๆก็จะมีการเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการเหมืองแม่เมาะ ก็จะมีโครงการที่ 9,10,11 คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป ประกอบกับโครงการเหมืองหงสา ก็มีอายุสัญญาสัปทานถึง 15 ปี ก็เชื่อว่าจะมีการเปิดประมูลออกมาอีก ซึ่งมีโอกาสได้รับงานถึง 50% รวมถึงยังมองโอกาสเข้าประมูลงานระบบสายพาน ระบบลำเลียงขนาดใหญ่ ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่และเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย อีกทั้งก็อยู่ระหว่างการยื่นประมูลงานเหมืองในลาวอีกด้วย
สำหรับความเสี่ยงของธุรกิจ คือ การควบคุมต้นทุน จากราคาน้ำมันในแต่ละปีมีความผันผวน โดยบริษัทมีนโยบายรักษาอัตรากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับ 10% ทุกปี และการหางานในมือให้มีเข้ามาอยู่ตลอด เพื่อการเติบโตของรายได้ ซึ่งบริษัทนับว่าเป็นผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญ จึงน่าจะมีโอกาสสูงในการเข้ารับงาน
"บริษัทถือว่ามีความมั่นคงทางรายได้ พิจารณาจากงานในมือที่รอรับรู้รายได้ จาก 3 โครงการที่สร้างรายได้ให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งลูกค้าหลักของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท หงสาพาวเวอร์ จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง ทำให้ SQ มีความแตกต่างจากกลุ่มธุกิจเดียวกัน เพราะอายุสัญญาของงานแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 10 ปี"นายศาศวัต กล่าว