สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (5 - 9 กันยายน 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 459,056.68 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 91,811.34 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 7% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 72% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 332,144 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 79,605 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 13,830 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 5.3 ปี) LB26DA (อายุ 10.3 ปี) และ LB196A (อายุ 2.8 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 11,708 ล้านบาท 11,582 ล้านบาท และ 9,716 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น TOP243A (AA-(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,275 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด รุ่น DTN207A (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 660 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) รุ่น TISCO171A (A) มูลค่าการซื้อขาย 533 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในตราสารระยะยาว โดยตราสารอายุ 10 ปี ปรับลดลงประมาณ 11 bps. จาก 2.24% มาอยู่ที่ 2.13% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนให้น้ำหนักต่อตัวเลขดัชนีภาคบริการของ ISM ของสหรัฐฯ ประจำเดือน ส.ค. 2016 ที่ 51.4 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 55.5 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2010 และลดลงจากระดับ 55.5 ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC รอบ 20-21 ก.ย. นี้ นอกจากนี้การที่ Fed ได้ออกมาเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวเล็กน้อยในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ได้เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งซึ่งทำให้ Yield ลดต่ำลงอีก รวมถึงนักลงทุนเริ่มเข้าซื้อตราสารหนี้จากการที่ Yield ได้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาหน้า
สำหรับปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ เมื่อวันที่ 6 กันยายน สหภาพยุโรป (EU) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2559 ปรับเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันได้ประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน และไม่มีการขยายช่วงเวลาในการดำเนินนโยบายดังกล่าวซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2560
สัปดาห์ที่ผ่านมา (5 - 9 กันยายน 2559) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 8,107 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 5,150 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 3,938 ล้านบาทและเป็นตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) 6,895 ล้านบาท
หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย สัปดาห์นี้ สัปดาห์ก่อนหน้า เปลี่ยนแปลง สะสมตั้งแต่ต้นปี (5 - 9 ก.ย. 59) (29 ส.ค. - 2 ก.ย. 59) (%) (1 ม.ค. - 9 ก.ย. 59) มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท) 459,056.68 429,538.89 6.87% 15,959,092.23 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท) 91,811.34 85,907.78 6.87% 95,563.43 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index) 111.93 111.54 0.35% ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index) 107.38 107.27 0.10% เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --% ช่วงอายุของตราสารหนี้ 1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี สัปดาห์นี้ (9 ก.ย. 59) 1.39 1.48 1.49 1.62 1.8 2.13 2.51 2.84 สัปดาห์ก่อนหน้า (2 ก.ย. 59) 1.37 1.48 1.49 1.64 1.83 2.24 2.57 2.85 เปลี่ยนแปลง (basis point) 2 0 0 -2 -3 -11 -6 -1