UREKA รับปีนี้ยังขาดทุน-ลดเป้ารายได้ปีนี้เหลือ 320 ลบ.,เตรียมเปิดพันธมิตรใหม่รับงาน Logistic Automation

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 13, 2016 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเรกา ดีไซน์ (UREKA) คาดว่าผลประกอบการปีนี้จะยังคงขาดทุนสุทธิ แต่ผลขาดทุนจะลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขาดทุน 24.85 ล้านบาท โดยบริษัทจะเริ่มกลับมามีกำไรในช่วงครึ่งปีหลังจากง่านในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 180 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 130 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังเตรียมเซ็นสัญญารับงานใหม่ในกลุ่มผลิตเครื่องจักรอีกราว 40-50 ล้านบาในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับลดเป้ารายได้ปีนี้เหลือ 320 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 450 ล้านบาท เนื่องจากงานประชารัฐฯที่บริษัทคาดว่าจะได้ราว 100 โครงการ แต่ทำได้เพียง 20 โครงการ ขณะที่งานเครื่องจักรสำเร็จรูปนั้นบริษัทต้องส่งมอบก่อนถึงจะรับรู้รายได้ ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดส่งมอบในปี 60 ทำให้รับรู้รายได้ไม่ทันในปีนี้

"ปีนี้เราปรับลดเป้ารายได้ลงจากงานหลาย ๆ อย่างที่พลาดเป้าหมายไป แต่อย่างไรก็ตามเราจะเริ่มกลับมามีกำไรได้แล้วในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ปรับตัวมาตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมาโดยการลดพนักงานในทุกระดับชั้นลง 20% ทำให้เราสบายตัวขึ้นเยอะ เราจึงจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังนี้แล้ว"นายนรากร กล่าว

นายนรากร กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มผลประบกอบการในปี 60 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 450 ล้านบาท พร้อมมีอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 30% แบ่งเป็น รายได้จากกลุ่มเครื่องจักร 300 ล้านบาท กลุ่มออโตเมชั่น 50 ล้านบาท โดยไม่รวมโลจิสติกส์ออโตเมชั่น และรายได้จากธุรกิจอนุรักษ์พลังงาน 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้จากกลุ่มเครื่องจักร 300 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องจักรทางการเกษตร 50 ล้านบาท พลาสติก 100 ล้านบาท และในส่วนของเครื่องจักรยานยนต์ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตทั้งไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย ในส่วนของกลุ่มออโตเมชั่น 50 ล้านบาท เจรจาอยู่กว่า 10 ราย คาดว่าปีนี้จะได้ข้อสรุปราว 1-2 รายรับรู้รายได้ในปี 60 ทันที สอดคล้องโครงการโมเดลไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy" หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งนับเป็นโครงการที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้มีความต้องการด้านออโตเมชั่นมากขึ้น

ส่วนรายได้จากธุรกิจอนุรักษ์พลังงาน 100 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าอยู่ 4-5 ราย มูลค่างานราว 50 ล้านบาท/ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนให้อาคารต่าง ๆ ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมีงบประมาณออกมาอีกราว 6,000 ล้านบาท ให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ยื่นเข้ามาเพื่อปรับปรุงอาคารสำนักงาน โดยจะสนุบสนุน 100% แต่จะสนับสนุนไม่เกิน 50 ล้านบาท/แห่ง

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัวพันธมิตรใหม่ด้านโลจิสติกส์ออโตเมชั่น 1 รายภายในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นผู้มีความรู้แต่ขนาดของบริษัทค่อนข้างเล็กทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตาม หากมาร่วมเป็นพันธมิตรกันแล้วก็จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น และจะสามารถรับงานขนาดใหญ่ได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทก็มีความคาดหวังในการรับงาน 1-2 งาน/ปี ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้สนใจ และเข้ามาเจรจาบ้างแล้ว

นายนรากร กล่าวอีกว่า บริษัทได้วางงบลงทุนสำหรับปี 60 ไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนสายการผลิตใหม่ในประเทศอินเดีย และส่วนที่เหลือก็จะเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรับงานใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเงินทุนจะมาจากการแปลงสภาพจากใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์เรนต์) ที่จะมีการแปลงสภาพในเดือน พ.ย.59 และ เม.ย.60 โดยวอร์แรนต์มีมูลค่ารวมทั้งหมด 100 ล้านบาท หวังผู้ใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท นอกจากนี้หากไม่เพียงพอบริษัทยังสามารถกู้จากสถาบันทางการเงินได้เพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่เพียง 0.9 เท่า

"เรามีขาดทุนสะสมอยู่ 63 ล้านบาท ซึ่งในปีหน้าหากใช้ผลประกอบการปกติที่เราตั้งไว้ว่าจะมีรายได้ 450 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 30% ยังไม่สามารถล้างขาดทุนสะสมได้ แต่หากบริษัทได้รับงานโลจิสติกส์ออโตเมชั่น เข้ามา 1-2 งานเราก็จะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมดทันที"นายนรากร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ