GBS ให้กรอบหุ้นไทยช่วงนี้ 1,420-1,460 เกาะติดเฟดเคาะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่สัปดาห์หน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 14, 2016 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า บริษัทประเมินการเคลื่อนไหวของ SET แกว่งตัวในกรอบ 1,420-1,460 จุด โดยตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยยังคงมีแรงกดดันและผันผวนสูง จากประเด็นการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 20-21 ก.ย. ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ตามคาดว่าการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 26-28 ก.ย. น่าจะเป็นบวกต่อราคาน้ำมันรวมถึงกลุ่มพลังงาน ประกอบกับแรงซื้อเก็งกำไรตามสัญญาณเทคนิค Oversold ของดัชนีน่าจะช่วยหนุนต่อภาวะการลงทุนในสัปดาห์นี้

โดยแนะนำซื้อเก็งกำไรในกลุ่มที่มีปัจจัยบวก ได้แก่ THAI, AAV และBA ที่ได้รับผลดีเชิงบวกด้านจิตวิทยาจากการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งตรวจรับรอง 25 สายการบิน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 4 เดือน และยังต้องลุ้นต้นปี 60 ยื่นขอปลดธงแดงขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตรวจมาตรฐานอีกรอบ รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เร่งเครื่องโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท เปิดฉากประมูลในเดือนต.ค. ได้แก่ ILINK และARROW

ด้านนางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากกระแสเงินทุนจากต่างชาติเป็นหลักตั้งแต่ต้นเดือนก.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ปัจจัยบวกภายในประเทศมาจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) เริ่มใช้ 1 ต.ค.59 ตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โตเฉลี่ยกว่า 5% ต่อปี และมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เป็น 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ รวมถึงเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หลังดัชนี SET ปรับลดลงลึกเข้ามาช่วยพยุงตลาด

อย่างไรก็ตาม มีความไม่แน่นอนจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ทั้งนี้ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน รวมทั้งเสนอความเห็นว่าเฟดควรหารือกันอย่างจริงจังต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาในวันนี้ (14 ก.ย.) ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2559 คาดว่าน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะมีการปรับประมาณการตัวเลข GDP ใหม่หลัง GDP ไตรมาส 2/59 ที่โต 3.5% ดีกว่าคาด ส่วนวันที่ 15 ก.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) โพลล์คาดคงอัตราดอกเบี้ย ,การประชุมเฟดวันที่ 20-21 ก.ย. และการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มโอเปกในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ด้วย

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายสุทธิพงษ์ ศรีพรประเสริฐ นักวิเคราะห์การลงทุน บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า ราคาทองคำปรับลงในช่วงท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแรงกดดันธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และไม่มีการขยายช่วงเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ประกอบกับความกังวลว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดหลายรายได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ โดยประธานเฟด สาขาบอสตันกล่าวเตือนว่าเฟดเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นหากชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานเกินไป

ขณะที่ประธานเฟด สาขาดัลลัส เผยปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังมีน้ำหนักมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ด้านนายแดเนียล ทารูลโล หนึ่งในผู้ว่าการเฟด กล่าวว่าเขาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ รวมถึงประธานเฟดสาขาแอตแลนตาเห็นว่าเฟดควรทำการหารืออย่างจริงจังในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตลาดจะคลายกังวลลงบ้างต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหลังนางลาเอล เบรนนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดได้แนะนำให้เฟดดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการฟื้นตัว แต่ความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่วนใหญ่ที่มองว่าเฟดควรปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยังเป็นแรงกดดันต่อทิศทางของราคาทองคำ

สำหรับแนวโน้มราคาทองโลกด้านเทคนิค ราคาทองปรับลงต่ำกว่าแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 5 วัน ด้วยการต่อยอดขาลงแท่งเทียนสัญญาณลบที่หลุดฐานแนวรับไหล่ขวา ประกอบกับค่าสัญญาณทางเทคนิคที่เป็นลบ แม้ระยะสั้นจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแต่ยังมีแรงกดดันจากแนวพักตัวลง ทำให้ดัชนีแนวโน้มปรับขึ้นช่วงสั้นเท่านั้นก่อนปรับลงต่อ โดยมีแนวรับ 1,305-1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์ และแนวต้าน 1,355-1,360 เหรียญต่อทรอยออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ