นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) คาดว่าปี 60 จะพลิกมีกำไรสุทธิจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ โดยได้รับผลกระทบจากขาดทุนงาน 2-3 โครงการท่จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ได้แก่ โครงการเหมืองแม่เมาะที่มีมูลค่างานกว่า 1 หมื่นล้านบาท ต้องตั้งสำรองต่อเนื่องไปอีก 2 ปี(ปี 60-61), โครงการงาน LPG Terminal 2 ที่ ITD ร่วมกับซัมซุง ซึ่ง ITD ถือ25% ของมูลค่าโครงการ ราว 7-8 พันล้านบาท
แต่ในปี 60 คาดว่าจะทำกำไรสุทธิได้จากรายได้ที่คาดว่าจะทำได้มากกว่า 6 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดทำรายได้ได้ราว 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากงานในมือ (Backlog) และจะมีงานภาครัฐทยอยออกประมูลจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้งานรับเหมาในปีหน้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยงานที่จะเข้าร่วมประมูล ได้แก่ งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่เป็นโครงการความร่วมมือไทยและจีน ,โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งจะเข้าไปรับงานโยธา แต่จะไม่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก สายสีม่วงใต้ เป็นต้น
"ปีนี้งานทั่วไปเรามีกำไร 10%แต่ก็มี 2-3 งานที่เราขาดทุน อย่างงานเหมืองแม่เมาะเราก็ยังขาดทุนอีก 2 ปีก็ทยอยตั้งสำรอง...ปีหน้างานรับเหมาก่อสร้างในประเทศทึ่เป็นโครงการภาครัฐเริ่มทยอยออกมามากแน่นอน และคาดว่าในปีหน้าจะออกมามากและแข่งขันกันดุเดือด"นายเปรมชัย กล่าว
นายเปรมชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมี Backlog จำนวน 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในช่วง 3 ปีจากนี้ (ปี 60-62) เฉลี่ยปีละ 6 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้รวมใน Backlog ได้แก่ โครงการพลังน้ำ น้ำเทิน 1 ที่สปป.ลาว ขนาด 600 เมกะวัตต์ มูลค่างาน 2 หมื่นล้านบาท งานสร้างถนนใน สปป.ลาว มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท งานสร้างถนนในบังคลาเทศ ซึ่งเป็นถนนยกระดับในเมืองดักการ์มูลค่างานราว 1 พันล้านบาท
ขณะที่บริษัทมีงานรอเซ็นสัญญาว่าจ้างประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ภายในไตรมาส 4/59 ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา เฟสแรก โรงไฟฟ้าบางปะกง วงเงิน 5-6 พันล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ได้งาน 3 ตอน มูลค่างานรวม 4-5 พันล้านบาท เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จ.อุดรธานีนั้น อยู่ระหว่างรอเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ หลังจากนั้นคาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะออกประทานบัตร ระยะเวลา 30 ปี โดยมีพื้นที่สัมปทาน 2 หมื่นไร่ (อุดรใต้) ให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช จำกัดภายในสิ้นปีนี้
นายเปรมชัย กล่าวว่า โครงการเหมืองแร่โปแตช จะใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินกู้ 70% และส่วนทุนอีก 30% โดยบริษัทถือหุ้นอยู่ 90% ในบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน โดยมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 10%
ทั้งนี้ คาดว่าหลังได้รับประทานบัตรแล้วจะใช้เวลาออกแบบและก่อสร้าง 6-8 เดือนจึงเริ่มก่อสร้างได้ในปี 60 และจะเริ่มผลิตในปลายปี 63 หรือต้นปี 64 กำลังการผลิต 2 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี บนสมมติฐานราคา 260 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยจะขายผลผลิตให้กับโรงงานผลิตปุ๋ยในประเทศทดแทนการนำเข้าแร่โปแตชปีละ 7 แสนตัน และที่เหลือจะส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซียที่มีความต้องการ 4 ล้านตัน/ปี อินโดนีเซีย มึความต้องการ 4 ล้านตัน/ปี
ขณะเดียวกันบริษัทได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองโปแตชที่อุดรที่มีพื้นที่ 4 หมื่นไร่ (อุดรเหนือ) กับกระทรวงอุตสาหกรรม คาดใช้เวลา 2-3 ปี จากเหมืองแรก (อุดรใต้) ที่ใช้เวลานาน 9 ปี กว่าจะได้ประทานบัตร