SGP จัดทัพรับมือ LPG ในปท.หด เร่งส่งออก-พ่วงขายน้ำมันในปั๊ม,เล็งลงทุนเมียนมา-บังคลาเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 15, 2016 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) เปิดเผยว่า บริษัทปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หลังปริมาณการใช้ในประเทศหดตัว โดยเฉพาะภาคขนส่ง เบื้องต้นเร่งการส่งออก LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เน้นในเมียนมา ที่มีความต้องการใช้มาก รวมถึงการเตรียมเปิดปั๊มน้ำมันบางจากในปั๊ม LPG ของบริษัทประเดิม 6 แห่งปีนี้ก่อนจะทยอยให้ครบศักยภาพ 15 แห่งในปีหน้า ขณะที่ศึกษาการลงทุนตั้งคลัง,โรงบรรจุ และท่าเรือรองรับธุรกิจ LPG ในเมียนมาและบังคลาเทศ คาดว่าจะสรุปแผนบังคลาเทศก่อนในปีนี้

"ปั๊มแก๊สเราไม่ปิด ตัวนี้จะเป็นตัวยอด secure ยอด auto gas เรา ปั๊มไหนที่เราขยายใส่น้ำมันได้เราก็ใส่ ใช้แบรนด์บางจาก เราจะทำ 6 ปั๊มในสิ้นปีนี้และจะเพิ่มไปเรื่อย ๆ ในปั๊มที่มีเนื้อที่เยอะจะขายแก๊สด้วยขายน้ำมันด้วย...เราไม่ได้ผันยอดตัวเอง แต่เป็นการช่วยยอดมากกว่าที่ทำแก๊สด้วย สถานการณ์บีบบังคับ ถ้าเราขยายปั๊มเพิ่มอาจจะมีที่ต้องทำ 2 อย่างด้วย แผน development กำลังดูอยู่"นางจินตณา กล่าว

นางจินตณา กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริการ LPG ที่บริหารเอง (COCO) จำนวน 45 แห่ง และสถานีบริการที่ให้คนอื่นเช่าดำเนินการ (DODO) 500 แห่ง โดยช่วงนี้ยังไม่มีแผนขยายสถานีบริการเพิ่มเติม แต่หากสถานีบริการใดที่มีพื้นที่ค่อนข้างมากรองรับการขายน้ำมันได้ก็จะหันมาขายน้ำมันร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้พบว่ามีศักยภาพอยู่ 15 แห่งจากสถานีบริการที่บริหารเองทั้ง 45 แห่ง ซึ่งจะกลายเป็นธุรกิจเสริมให้กับบริษัท

ล่าสุดบริษัทได้ทดลองเปิดสถานีบริการน้ำมันบางจาก 1 แห่ง ซึ่งเป็นการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียวในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปรากฎว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นจากระดับ 1 แสนลิตร/เดือน เป็น 6 แสนลิตร/เดือนหลังจากเปิดได้เพียง 3-4 เดือนเท่านั้น

ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการสถานีบริการ LPG หลายแห่งที่มาเสนอขายให้กับบริษัท แต่บริษัทยังไม่ตัดสินใจซื้อโดยจะต้องพิจารณาถึงทำเลและราคาควบคู่กันไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ยอดขาย LPG ภาคขนส่งของบริษัทลดลงราว 17.7% มากกว่าตลาดที่หดตัว 16.5% หลังราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ใช้ก๊าซหันไปใช้น้ำมันมากขึ้น รวมถึงตลาดยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยยอดขาย LPG ภาคขนส่งของบริษัทในปีนี้ลดลงราว 1 หมื่นตัน/ไตรมาส ซึ่งนอกเหนือจากการพ่วงการขายน้ำมันแล้ว บริษัทยังจะเร่งการส่งออก LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวตะเข็บชายแดนด้วย ซึ่งจะนับเป็นยอดขายภายในประเทศ

ปัจจุบันบริษัทส่งออกไปยังกัมพูชา ราว 100 ตัน/เดือน ,ลาว 100 ตัน/เดือน, มาเลเซีย 200 ตัน/เดือน แต่ที่มีปริมาณการส่งออกจำนวนมากอยู่ในเมียนมา จากเดิมที่ส่งออกไปราว 1 พันตัน/เดือนช่วงต้นปี ขณะนี้ทำยอดเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 พันตัน/เดือน และวางเป้าหมายจะเพิ่มส่งออกในเมียนมาไปที่ราว 5 พันตัน/เดือนในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ยอดการขาย LPG ตามแนวชายแดนเพิ่มเป็น 5-6 พันตัน/เดือน จากกว่า 1 พันตัน/เดือนช่วงต้นปี โดยยอดขายตามแนวชายแดนจะนับเป็นยอดขาย LPG ภายในประเทศ

สำหรับปริมาณการขาย LPG ในปีนี้เชื่อว่าจะยังคงได้ตามเป้าหมายเติบโตราว 5% มาที่ 3 ล้านตัน โดยเป็นการขายในประเทศประมาณ 1.2 ล้านตัน และต่างประเทศราว 1.8 ล้านตัน แต่ในส่วนรายได้ในปีนี้คงจะทำได้ต่ำกว่าระดับ 5.8 หมื่นล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากราคาเฉลี่ย LPG ในตลาดโลกปีนี้น่าจะอยู่ระดับ 400 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากระดับราว 800 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีก่อน แต่ในปีหน้ายังคงเป้าหมายปริมาณขายเติบโตราว 5-6% จากปีนี้ ส่วนราคา LPG ในปีหน้าน่าจะเคลื่อนไหวราว 400-500 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้การขาย LPG ในประเทศทำได้ราว 45% ของเป้าหมายทั้งปี โดยนอกจากตลาดขนส่งที่หดตัวแล้ว ตลาดอุตสาหกรรมลดลง 0.5% เทียบกับตลาดรวมที่เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนตลาดก๊าซหุงต้มของบริษัทยังคงเติบโต 0.1% เทียบกับตลาดรวมหดตัว 0.3% ส่วนการขายในตลาดต่างประเทศทำได้ราว 50% ของเป้าหมายทั้งปี โดยมีการเติบโตในทุกตลาดทั้งเวียดนาม,มาเลเซีย,สิงคโปร์ ขณะที่การขายในจีนทำได้ราว 48% ของเป้าหมายทั้งปี ท่ามกลางการแข่งขันที่ยังดุเดือด

นางจินตณา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีปริมาณขายต่างประเทศและในประเทศ อยู่ในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จากปีนี้ที่คาดจะมีปริมาณขายต่างประเทศ 62.5% และในประเทศ 37.5% โดยบริษัทศึกษาการเข้าลงทุนตามโมเดลธุรกิจของ SGP ในเมียนมาและบังคลาเทศ ที่จะประกอบด้วย คลัง LPG ,โรงบรรจุ LPG และท่าเรือเพื่อรองรับการทำธุรกิจ โดยในส่วนของบังคลาเทศ จะเป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมดซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ โดยจะใช้แบรนด์ของ"สยามแก๊ส"เข้าไปดำเนินการเอง

ส่วนในเมียนมา ศึกษาเพื่อทำธุรกิจ LPG หากรัฐบาลเมียนมายังไม่กลับมาเปิดประมูลคลัง LPG อีกครั้ง โดยจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรในธุรกิจไฟฟ้า เพื่อสร้างคลังขนาดราว 5 พันตัน ,โรงบรรจุ และท่าเรือ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาทรองรับตลาดเมียนมาที่เติบโตมาก หลังการส่งออกผ่านตามแนวชายแดนไปเมียนมาในสิ้นปีนี้น่าจะทำได้เพิ่มขึ้นเป็นราว 5 พันตัน/วันเพียงพอที่จะทำให้เกิดการลงทุน คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 60

สำหรับการเข้าไปลงทุน 30% โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 230 เมกะวัตต์ในเมืองเมาะลำไย ของเมียนมานั้น ปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้ก็จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาบางส่วน และพันธมิตรในโรงไฟฟ้าก็อยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนในเฟสใหม่ต่อไปด้วย โดยโครงการดังกล่าวให้อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับ 7.5% แม้จะไม่มาก แต่ก็ทำให้เกิดรายได้ประจำในระยะยาวได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยต่อยอดการลงทุนธุรกิจ LPG ในเมียนมาในอนาคตด้วย

นางจินตณา กล่าวอีกว่า การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทจะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะมองโอกาสทั้งการลงทุนในต่างประเทศและในไทย โดยในไทยหากมีผู้สนใจจะเสนอให้เข้าร่วมทุนก็พร้อมที่จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ส่วนการที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดเสรีธุรกิจ LPG ในประเทศนั้น บริษัทก็มีความพร้อมที่จะนำเข้า LPG เพื่อจำหน่ายในประเทศรองรับการเปิดเสรีดังกล่าวด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ