นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) อย่างเป็นทางการ
สำหรับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ปีงบประมาณ 2553 – 2557) มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีขีดความสามารถเพียงพอต่อการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกด้านได้อย่างปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน การก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยาน และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆตามโครงการพัฒนาฯ จะทำให้ ทภก.สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปีเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี
อาคารดังกล่าวสร้างเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลังเดิมมาทางทิศใต้ โดยมีรูปแบบทันสมัย สวยงาม โอ่โถงและกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศด้วยรูปลักษณ์หลังคาที่เป็นโค้งลูกคลื่น ตัวอาคารผู้โดยสารมีความยาว 297 เมตร กว้าง 117 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 73,103 ตารางเมตร แบ่งเป็น 4 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้า ประกอบด้วย โถงรองรับผู้โดยสาร โถงรับกระเป๋ามีสายพานรับกระเป๋าจำนวน 5 ชุด จุดตรวจศุลกากรพร้อมเคาน์เตอร์ตรวจสัมภาระทั้งหมด 8 ชุด ร้านค้า เคาน์เตอร์บริการต่างๆ มีทางเข้า – ออก 6 จุด เชื่อมต่อกับชานชาลาจอดรับผู้โดยสาร จุดรอรถทัวร์ จุดรอรถแท็กซี่ มีห้องน้ำบริการ 24 จุด และห้องน้ำสำหรับคนพิการ 8 จุด
ส่วนด้านนอกเป็นชานชาลาส่งผู้โดยสารขาเข้า (Arrival curb) ซึ่งมีความยาว 300 เมตร ชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่ชั้นผู้โดยสารขาเข้า ชั้นเทียบเครื่องบิน ประกอบด้วย ประตูขึ้นเครื่อง (Gate) 11 – 15 ด่านตรวจคนเข้าเมือง 19 จุด ร้านอาหาร และส่วนสะพานเชื่อมต่อไปยังอาคารผู้โดยสารภายในประเทศพร้อมห้องน้ำให้บริการ 12 จุด และห้องน้ำสำหรับคนพิการ 5 จุด
ชั้นที่ 3 เป็นพื้นที่ชั้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Contact Gate Hold Room และ Bus Gate Hold Room ประกอบด้วย เคาน์เตอร์เช็คอินทั้งหมด 96 เคาน์เตอร์ แบ่งเป็น 4 แถว แถวละ 24 เคาน์เตอร์ มีเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจสัมภาระทั้งหมด 11 เครื่อง ด่านตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาออก 17 จุด ซึ่งในชั้นนี้มีห้องน้ำให้บริการ 12 จุด และมีห้องน้ำสำหรับคนพิการ 5 จุด และด้านนอกของอาคารมีชานชาลาส่งผู้โดยสาร (Departure Curb) ความยาว 285 เมตร
และ ชั้นที่ 4 เป็นพื้นที่ส่วนพักคอยสายการบิน ร้านอาหาร ศูนย์อาหารและภัตตาคาร โดยมีห้องน้ำให้บริการ 8 จุด และห้องน้ำสำหรับคนพิการ 4 จุด ทั้งนี้ ห้องน้ำภายในอาคารผู้โดยสารได้มีการตกแต่งเป็นรูปภาพวิวสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลของ 5 จังหวัดอันดามัน คือ ภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ และระนอง
นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทภก.นั้น ทอท.ได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การให้บริการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ทอท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารดังกล่าว (Operational Readiness and Airport Transfer : ORAT) ในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การทดสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การทดสอบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และการประสานหน่วยงานราชการ ด้านพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบต่างๆ รวมทั้งกำหนดให้มีการทดสอบบูรณาการทุกระบบ
นอกจากนั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมทดสอบระบบต่างๆ (Trial) ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 7 กันยายน 2559 ได้แก่ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) รวมถึงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) ซึ่งเป็นการทดสอบขีดความสามารถของระบบ เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยสูงสุด
ทอท.ยังได้ทดสอบระบบเต็มรูปแบบ (Full Scale Trial) ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 1 กันยายน 2559 ในด้านการสร้างความคุ้นเคยให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของ ทภก.และหน่วยงานภายนอก เช่น สายการบิน หน่วยงานราชการ เป็นต้น เพื่อทำการทดสอบระบบควบคู่กับการเตรียมความพร้อมทดสอบระบบก่อนที่จะดำเนินการเปิดใช้งานจริง โดยจำลองการไหลของผู้โดยสารและกระเป๋า (Simulation Program) ในการผ่านกระบวนการเข้า – ออก และเปลี่ยน – ผ่านลำ ซึ่งได้มีการทดสอบทั้งหมด 4 ครั้ง คือ Pre-Simulation เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 Simulation ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 Simulation ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 และ Simulation ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ทั้งนี้ ในการทดสอบ Simulation
ครั้งที่ 2 ได้มีสายการบินและผู้ให้บริการภาคพื้นเข้าร่วมทดสอบ และมีหน่วยงานราชการ ประกอบด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากรเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งนอกจากการทดสอบภายในท่าอากาศยานแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมตรวจสอบด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารด้วย ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ในการเปิดใช้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และหลุมจอดอากาศยาน รวมทั้งได้เข้ามาตรวจสอบด้านมาตรฐานท่าอากาศยาน การรักษาความปลอดภัยกิจการการบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับท่าอากาศยานด้านการเตรียมความพร้อมการย้ายเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ให้บริการ ณ อาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน และอาคาร X-Terminal มายังอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทภก.นั้น ได้มีการดำเนินการย้ายเที่ยวบินและผู้โดยสารดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเวลา 00.01 น.ของวันที่ 16 กันยายน 2559 ทั้งนี้ มีสายการบินระหว่างประเทศจำนวน 36 สายการบิน
นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทอท.ได้กำหนดบทบาททางยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ให้ ทภก.เป็น “Gateway to the Andaman" โดยปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ทภก.ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2558) ทภก.มีจำนวนผู้โดยสารเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบินเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.06 ต่อปี และช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2559 (เดือนตุลาคม 2558 – สิงหาคม 2559) ทภก.ให้บริการผู้โดยสารจำนวน 13,663,752 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.01 และมีเที่ยวบิน 87,409 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบัน ทภก.มีสายการบินให้บริการ 46 สายการบิน เชื่อมต่อจุดหมายปลายทางกว่า 37 จุดบิน ดังนั้น อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทภก.จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นจากการออกแบบอาคารให้มีความทันสมัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน