สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ของ BWG เชื่อว่าจะช่วยให้โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม มีช่องทางการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนได้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางไว้ ในขณะเดียวกันจะถือเป็นการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
ส่วนความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมโรงแรกของบริษัทเองนั้น จะเริ่มเชื่อมต่อสายส่งเพื่อจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 60
"หลังจากนี้จะเห็นการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญในหลายรูปแบบ ทั้งการศึกษาและพัฒนาโครงการร่วมกับพันธมิตรที่เราริเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี และการลงทุนด้วยตัวเองผ่านบริษัทย่อย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการแรก"นายสุวัฒน์ กล่าว
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทนับว่ามีความพร้อมในทุก ๆ ด้านสำหรับการเร่งขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเชื้อเพลิงเพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอัดแข็งจากกากอุตสาหกรรม (Refuse Derived Fuel Project:RDF) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีกำลังการผลิตเชื้อเพลิงอัดแข็งที่มีคุณสมบัติค่าความร้อนใกล้เคียงกับถ่านหินรวมกัน 2 เฟสถึงวันละ 600 ตัน
"การผลิตเชื้อเพลิงอัดแข็งจากกากอุตสาหกรรม สามารถรองรับการขยายโรงไฟฟ้าได้อย่างคล่องตัว นอกเหนือจากรองรับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมของบริษัทกำลังผลิตขนาด 9.4 เมกะวัตต์ ที่นำร่องเป็นโครงการแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบได้ภายในปี 60 และในอนาคตยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเชื้อเพลิงอัดแข็งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากแต่ละปีจะมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายเกิดขึ้นถึงกว่า 30 ล้านตัน จึงสามารถรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก และถือเป็นโอกาสที่บริษัทจะขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว"นายสุวัฒน์ กล่าว