ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1.5 พันลบ. GL ที่ระดับ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 20, 2016 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ของ บมจ. กรุ๊ปลีส (GL) ที่ระดับ “A-" โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย ในสัดส่วน 65% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ที่เสนอขาย และเมื่อรวมกันแล้ววงเงินค้ำประกันจำกัดไว้ไม่เกิน 975 ล้านบาท พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วย

โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ที่เสนอขาย และเมื่อรวมกันแล้ววงเงินค้ำประกันจำกัดไว้ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" (International Scale) จาก S&P Global Ratings นอกเหนือจากความแข็งแกร่งที่ได้รับจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเพิกถอนไม่ได้จากธนาคารกสิกรไทยแล้ว อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานทุนที่เพียงพอด้วย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยู่ในระดับสูงถือเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของหุ้นกู้ของบริษัทขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ โดยที่การที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คาดว่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนควบคุมคุณภาพสินเชื่อโดยรวม และยกระดับผลประกอบการทางการเงินให้ดีขึ้นได้

การปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นในกรณีที่คุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงเกินกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ หรือหากความน่าเชื่อถือทางด้านเครดิตของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ของบริษัทอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถขยายธุรกิจในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว และตลาดอื่นได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ในระดับปัจจุบันก็อาจจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตได้

บริษัทกรุ๊ปลีสก่อตั้งในปี 2529 โดยตระกูลเหลืองรังษีเพื่อประกอบธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ต่อมาในปี 2533 นายขรรค์ชัย บุนปาน และนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ได้ซื้อกิจการของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมและได้เปลี่ยนไปเน้นการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์แทน ในปี 2548 สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 โดย Asia Partnership Fund (APF) ซึ่งเป็นกองทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมทั้งซื้อหุ้นผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือ ส่งผลให้ APF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 48.99%% ณ เดือนมิถุนายน 2559

บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารในปี 2554 ผู้บริหารชุดใหม่ประสบความสำเร็จในการรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายเดิมที่มีอยู่และขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัททั้งตลาดในประเทศและตลาดอื่นๆ ในประเทศกลุ่มอาเซียน ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,306 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 49.79% จากปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,922 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 48.9% จากปี 2555 เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อคงค้างแล้ว บริษัทมีขนาดของสินเชื่อคงค้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 10 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ในเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ธนบรรณ จำกัด จากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทธนบรรณเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อคงค้างของบริษัทธนบรรณอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 ล้านบาทในช่วงปี 2556 และปี 2557 การครอบงำกิจการของบริษัทธนบรรณได้ช่วยส่งเสริมสถานะทางการตลาดของบริษัทในด้านสินเชื่อคงค้างให้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้ประโยชน์จากเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัทธนบรรณด้วย หลังจากการซื้อกิจการของบริษัทธนบรรณแล้ว สินเชื่อคงค้างของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 6,697 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 จาก 5,291 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์นั้น ผู้ประกอบการหลายรายซึ่งรวมถึงบริษัทต้องชะลอการขยายสินเชื่อโดยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อให้มากขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 สินเชื่อเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคงค้างของบริษัทยังค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับ 6,656 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 1.5% มาอยู่ที่ระดับ 6,553 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 สินเชื่อคงค้างสำหรับให้เช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันของบริษัทเพิ่มขึ้น 2.74% จากสิ้นปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 6,733 ล้านบาท

ในปี 2556 บริษัทได้เริ่มให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อในประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดคือ GL Finance PLC (GLF) โดยมีความร่วมมือกับ Honda NCX ซึ่งเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศกัมพูชา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 สินเชื่อคงค้างของ GLF คิดเป็น 30% โดยประมาณของสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 10% ณ สิ้นปี 2557 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 สินเชื่อคงค้างประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถทางการเกษตรคูโบต้า และสินเชื่อเช่าซื้อแผงพลังงานแสงอาทิตย์

ในปี 2557 บริษัทเริ่มดำเนินกิจการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ผ่านบริษัทลูก คือ GL Leasing (Lao) Co., Ltd. (GLL) โดยมีรูปแบบธุรกิจที่ใกล้เคียงกับในประเทศกัมพูชา โดย GLL เน้นการให้สินเชื่อเครื่องจักรทางการเกษตรและสินเชื่อรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังขยายธุรกิจไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่านบริษัทลูก คือ PT Group Lease Finance Indonesia (GLFI) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง Group Lease Holdings Pte., Ltd. (GLH) J Trust Asia Pte., Ltd. และบริษัทท้องถิ่นในอินโดนีเซียด้วย โดย GLFI ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทางการประเทศอินโดนีเซีย (OJK) ในเดือนกรกฎาคม 2559

คุณภาพสินเชื่อของบริษัทปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยคุณภาพของสินเชื่อคงค้างปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับกระบวนการจัดเก็บหนี้ของบริษัท ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันลดลงจาก 9.4% ณ สิ้นปี 2557 เป็น 5.93% ณ สิ้นปี 2558 และ 4.73% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559

ผลประกอบการของบริษัทในปี 2556 และ 2557 ได้รับผลกระทบจากคุณภาพสินเชื่อที่ถดถอยลงและการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนที่สูงขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.35% ในปี 2556 และ 8.55% ในปี 2557 อัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.64% ในปี 2556 แต่ลดลงเล็กน้อยเป็น 7.46% ในปี 2557 จาก 5.09% ในปี 2555 การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองและผลขาดทุนจากรถจักรยานยนต์ยึดคืนทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 240 ล้านบาทในปี 2556 หรือลดลง 32.76% จากปี 2555 และ 118 ล้านบาทในปี 2557 หรือลดลง 51.01% จากปี 2556 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับลดลงเป็น 5.35% ในปี 2556 และ 1.84% ในปี 2557 จาก 12.29% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 และในไตรมาสแรกของปี 2559 โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันถัวเฉลี่ยลดลงเป็น 5.4% ในปี 2558 และ 4.64% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในครึ่งแรกของปี 2559 อีกทั้งอัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันถัวเฉลี่ยก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 5.38% ในปี 2558 และ 3.3% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในครึ่งแรกของปี 2559 ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 583 ล้านบาทในปี 2558 และ 478 ล้านบาทสำหรับครึ่งแรกของปี 2559 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 6.46% ในปี 2558 และ 7.94% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในครึ่งแรกของปี 2559 ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงนโยบายการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังคาดหวังด้วยว่าบริษัทจะดำเนินมาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2559 และต่อ ๆ ไป

ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 โดยบริษัทสามารถขยายฐานสินเชื่อด้วยการกู้ยืมเงินโดยมีความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นปัจจัยสนับสนุน แม้ว่าเงินกู้ยืมรวมของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3,111 ล้านบาทในปี 2556 แต่อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมก็ยังคงแข็งแกร่ง โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องและการมีผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแรง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 41.14% ณ สิ้นปี 2556 จาก 45.59% ในปี 2555 และ 57.85% ในปี 2554 การครอบครองกิจการของบริษัทธนบรรณในช่วงกลางปี 2557 ที่ผ่านมาใช้เงินทุนจากการกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 34.57% ณ สิ้นปี 2557 แต่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 70.43% ณ สิ้นปี 2558 จากการเพิ่มทุนในเดือนธันวาคม 2558 โดยการเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทและการใช้สิทธิแปลงหุ้นกู้เป็นทุน

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 58.19% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 จากเงินรับล่วงหน้าจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจาก J Trust Asia Pte., Ltd. ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวยังคงเพียงพอสำหรับธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยงสูงของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่สูงกว่าผู้ประกอบการธุรกิจให้สินเชื่อยานพาหนะทั่วไปที่เน้นรถยนต์นั่งและรถกระบะ ทั้งนี้ ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทจะเป็นปัจจัยส่งเสริมในสองด้าน คือ ช่วยเป็นฐานในการขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน และช่วยปกป้องผลประกอบการของบริษัทจากผลขาดทุนอันอาจเกิดจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ