นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) เปิดเผยทิศทางตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ว่า เนื่องจากเป็นสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสที่ 3 นักลงทุนอาจซื้อขายแบบระมัดระวังกันมากขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลต่อตลาดไม่ว่าจะเป็นการดีเบต (Debate) ระหว่างผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 ท่านในวันจันทร์ และการประชุมผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งทั้งสองเรื่องมีผลต่อทิศทางตลาดค่อนข้างมาก เราจึงประเมินว่านักลงทุนจะรอตัดสินใจบนผลของ 2 ปัจจัยนี้ ประเมินในเบื้องต้น ไม่น่าจะออกมาเป็นบวกต่อตลาดได้มากนัก ทิศทางตลาดจึงน่าจะเป็นผันผวนในกรอบแคบมากกว่า
ตัวแปรสำคัญของตลาดให้น้ำหนักสำคัญกับ 2 ตัวแปร คือ การดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ในวันนี้ ซึ่งจะเป็นการโต้วาทีเป็นครั้งแรกจากจำนวน 3 ครั้ง เหตุที่สำคัญต่อตลาด เพราะนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกมองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อการค้าระหว่างประเทศและนโยบายต่างๆ ค่อนข้างมาก หากมีสัญญาณว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็จะเป็นลบต่อตลาดหุ้น
ขณะที่การประชุมผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC-ผู้ผลิตนอกกลุ่ม) เช่นเดียวกับที่แสดงความเห็นในสัปดาห์ก่อน แม้จะมีการประชุมจริง แต่ผลการประชุมอาจแค่พยุงราคาน้ำมันไว้ให้แกว่งในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เท่านั้น ไม่ขึ้นไกลกว่านี้ เพราะ Supply ไม่ได้ลดลงจากระดับปัจจุบัน เราจึงไม่คาดหวังอะไรกับการประชุมครั้งนี้
อีกทั้งข่าวล่าสุดว่าจะประชุม 28 ก.ย.นี้ เริ่มมีบางประเทศที่จะเข้าประชุมประเมินว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆที่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ก็ตาม ซึ่งหากผลการประชุมออกมาแล้วชี้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปเหนือ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้ จึงจะเป็นบวกต่อตลาดและหุ้นผู้ผลิตน้ำมัน+โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถึงกระนั้นผลในทางลบต่อราคาน้ำมัน จะเป็นลบต่อหุ้นเหล่านี้ไม่มาก เนื่องจากตลาดไม่ได้ให้ราคากับการประชุมครั้งนี้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผลพวงจากการประชุม FOMC และ BOJ คาดจะยังมีผลบวกต่อตลาดหุ้นในและต่างประเทศอยู่ เนื่องจากการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่อย่างเร็ว ประชุมครั้งต่อไป คือ 1-2 พ.ย.เลย ขณะที่ BOJ นั้น นโยบายการเงินอย่างยังดูไม่ชัดนักว่าการใช้ QQE จะให้ผลในทางใด การซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อกลุ่มหลักของตลาดหุ้นไทยปี 59 นั้นแรงซื้อเดือน ก.ย. จนถึงวันที่ 23 ก.ย. ดูแผ่วไปบ้างและยอดซื้อสะสมปีนี้ ยังวนเวียนแถวๆ 1.3 แสนล้านบาทไม่เปลี่ยน น่าจะเป็นสัญญาณว่าเงินก้อนใหม่มีน้อยลง โดยเงินลงทุนที่มีอยู่ เป็นเงินที่วนสลับในตลาดหุ้น-พันธบัตร หรือสลับในหุ้นด้วยกัน แบบนี้เป็นสัญญาณว่า SET Index จะขึ้นไปได้ ก็ไม่ไกล ถ้าไม่มีเงินก้อนใหม่ๆเข้ามา
ด้านตัวเลขส่งออกไทย เดือน ส.ค.ในวันที่ 26 ก.ย.กระทรวงพาณิชย์จะรายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ส.ค.โดยผลสำรวจจาก Bloomberg คาดมูลค่าส่งออก 1.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.4% YoY (ก.ค.-6.4%) และมูลค่านำเข้า 1.62 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.3% YoY (ก.ค.-7.2%) โดยมูลค่าการส่งออกช่วง 7 เดือนแรก ลดลง 2.3% YoY และหากไม่รวมทองคำ จะลดลง 5.2% YoY
นายมงคล กล่าวว่า หากตัวเลขออกมาตามที่คาดจะบ่งชี้ว่าภาคส่งออกของไทย และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัว หุ้นกลุ่มที่มีมูลค่าส่งออกสูงของไทยที่เดือนก.ค.ยังติดลบ จะเป็นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป
สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในสัปดาห์นี้ มองว่าการเข้าทำกำไรในจังหวะรีบาวด์จากสองสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะหมดลง นักลงทุนที่เก็งกำไรระยะสั้นๆ ควรปิดรอบการเล่นไปก่อนแล้วรอหรือเลือกลงทุนในหุ้นตัวใหม่ที่ขึ้นน้อย แต่คงต้องปรับเป็นลงทุนในกรอบเวลาสั้นๆ การเข้าลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ ควรรอสัญญาณบวกทั้งจากการ debate ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯและผลประชุมน้ำมัน หรือดัชนีฯ ดีดตัวกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1,500 จุดให้ได้ก่อน มองกรอบแนวรับของสัปดาห์นี้อยู่ที่ 1,477-1,451 ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,506-1,521 จุด
"หุ้นที่น่าสนใจ แบ่งเป็นหุ้นที่คาดว่าจ่ายเงินปันผลดีสม่ำเสมอและได้ประโยชน์ต่อจากการ Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ได้แก่ DIF , SPALI หุ้นกลุ่มส่งออกหรือรายได้อิงดอลล่าร์ ได้แก่ KCE,TOG,BANPU หุ้นเด่นๆในพอร์ตที่ KTBST วิเคราะห์มองว่าราคาลงมาจนน่าสนใจ ได้แก่ TSE,PIMO,TCAP หุ้นที่มีประเด็นบวกอื่น ๆ หรือราคาลงมามาก ได้แก่ HTECH,TVO,AUCT, GENCO"นายมงคล กล่าว