AOT เผยสนามบินดอนเมืองเคลียรปัญหาน้ำท่วมขังแล้วหลังฝนตกหนักคืน 24 ก.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 26, 2016 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2559 ช่วงเวลาประมาณ 21.30 – 22.30 น.เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักมากในเขตพื้นที่ดอนเมือง ซึ่งในส่วนบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานดอนเมืองสามารถวัดปริมาณน้ำฝนได้ 108.9 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเกินความสามารถการรองรับปริมาณน้ำฝนของท่าอากาศยานดอนเมือง ดังนั้น ท่าอากาศยานดอนเมืองจึงจำเป็นต้องสูบระบายน้ำออกโดยสถานีสูบระบายน้ำทั้ง 14 สถานีข้างต้นออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง 3 จุด ได้แก่ (1) ด้านทิศเหนือบริเวณครัวการบินไทยระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร (2) ด้านอาคารคลังสินค้าจะระบายน้ำลงคลองข้างถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งจะลงสู่คลองวัดหลักสี่และคลองเปรมประชากร และ (3) ด้านทิศตะวันออกระบายน้ำลงสู่คลองถนน

แต่เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันคลองเปรมประชากรมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งประมาณ 50 เซนติเมตร รวมถึงมีปริมาณน้ำท่วมขังบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนเชิดวุฒากาศสูงประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร ซึ่งท่าอากาศยานดอนเมืองได้บริหารจัดการสูบระบายน้ำให้สมดุล โดยไม่สูบระบายน้ำออกมากจนส่งผลกระทบแก่ชุมชนโดยรอบ และมิได้กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารและเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าว

นายเพ็ชร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสาเหตุดังกล่าวทำให้มีน้ำท่วมขังบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง ได้แก่ (1) บริเวณหลุมจอด 83 – 84 มีน้ำท่วมขังช่วงเวลา 22.00 – 23.00 น.บริเวณพื้นผิวลานจอดอากาศยานประมาณ 10 เซนติเมตร เนื่องจากมีเศษวัสดุไหลรวมบริเวณท่อระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยท่าอากาศยานดอนเมืองได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และจากการตรวจสอบเมื่อเวลา 02.00 น. พบว่าไม่มีน้ำท่วมขังและไม่พบน้ำท่วมขังในพื้นที่อื่นๆในเขตลานจอดอากาศยาน (2) บริเวณพื้นที่จอดรถยนต์ใต้อาคารผู้โดยสารอาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง มีน้ำท่วมขังประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร เนื่องจากมีเศษวัสดุไหลรวมบริเวณท่อระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่ง ทดม.ได้เนินการแก้ไขเป็นระยะๆ รวมถึงดำเนินการตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมแล้ว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานดอนเมืองไม่พบน้ำท่วมขังบริเวณทางวิ่ง (Runway) และทางขับ (Taxiway) หรือบริเวณหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 และอาคาร 2

"ทอท.มิได้นิ่งนอนใจในด้านการบริหารจัดการระบายน้ำภายในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนัก ซึ่งในเบื้องต้น ทอท.จะได้เร่งหารือกับร้านค้าผู้ประกอบการต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อขอร่วมมือในการกำจัดขยะและเศษวัสดุอย่างระมัดระวัง ตลอดจนได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังปริมาณน้ำ และประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสำนักงานเขตดอนเมืองอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อการให้บริการของท่าอากาศยานดอนเมือง" นายเพ็ชร กล่าว

รวมทั้งการดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากสถานีระบายน้ำท่าอากาศยานดอนเมืองทางฝั่งทิศตะวันตก ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผ่านท่อลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อระบายน้ำลงสู่ระบบระบายน้ำ ความยาวรวมทั้งสิ้น 900 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559 นี้ และจะบรรเทาผลกระทบต่อชุมชนได้มากยิ่งขึ้น และสามารถระบายน้ำได้ดีขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ทอท.ได้ดำเนินการและวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งโดยปกติ ท่าอากาศยานดอนเมืองสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ถึง 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และหากมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จะต้องมีการสูบระบายน้ำออกโดยสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่โดยรอบท่าอากาศยานทั้งหมด 12 สถานีที่สามารถสูบน้ำรวมประมาณ 48,840 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมกับสถานีสูบระบายน้ำของกองทัพอากาศจำนวน 2 สถานี ซึ่งสามารถในการสูบระบายน้ำเพิ่มได้อีกประมาณ 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ