ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาทของ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้สำหรับชำระคืนหนี้จากโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ส่วน SOE) ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤศจิกายน 2559
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคงและแน่นอน รวมถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนในการต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนในเขตเมืองที่จะหมดอายุในปี 2563 และการก่อหนี้ของบริษัทที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมออย่างต่อเนื่องจากทั้ง 2 ธุรกิจหลัก ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดจากแผนการลงทุนในระยะ 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ การลงทุนที่ใช้การก่อหนี้ในระดับสูงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 65% อย่างต่อเนื่องยาวนานจะส่งผลลบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัท
BEM ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จากการควบบริษัทระหว่าง บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 โดยมี บมจ.ช. การช่าง (CK) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 28.16% ณ เดือนเมษายน 2559
บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภทซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วน ธุรกิจรถไฟฟ้า และธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายทางด่วนและรถไฟฟ้าของบริษัท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทมีรายได้ 5,945 ล้านบาท โดย 75% ของรายได้มาจากธุรกิจทางด่วน 20% มาจากธุรกิจรถไฟฟ้า และ 5% มาจากธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์
บริษัทเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัมปทานส่วน SOE ด้วย โดยสัญญาสัมปทานเป็นแบบระบบ BTO ระยะเวลา 30 ปี และมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน ทั้งนี้ โครงการส่วน SOE เปิดให้บริการวันที่ 22 สิงหาคม 2559
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.2% ต่อปี สำหรับ 8 เดือนแรกของปี 2559 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.17 ล้านเที่ยวต่อวัน รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยอยู่ที่ 24.87 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ทางด่วนยังมีแนวโน้มในทางบวกด้วยอัตราการเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑลและการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนในเขตเมือง (ส่วน A, B, และ C) ที่จะหมดอายุในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันรายได้ประมาณ 50% ของบริษัทมาจากรายได้จากการให้บริการทางด่วนในเขตเมืองดังกล่าว
บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจำนวน 2 โครงการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) โดยสัญญาระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีระยะเวลา 25 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ในรูปแบบ Public-Private Partnership Net Cost (PPP Net Cost) โดยบริษัทจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการจัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมทั้งรับความเสี่ยงในเรื่องจำนวนผู้โดยสาร
สำหรับสัญญารถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นเป็นสัมปทาน 30 ปี รูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่ง รฟม. เป็นผู้ลงทุนค่างานโยธาทั้งหมดและบริษัทเป็นผู้ลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ซึ่ง รฟม. จะชำระเงินคืนหลังจากที่บริษัทโอนกรรมสิทธิ์ในงานระบบและขบวนรถไฟฟ้าให้แก่ รฟม. ในระยะเวลา 10 ปี และบริษัทได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 6 สิงหาคม 2559
จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า โดยจำนวนผู้โดยสารเติบโตโดยเฉลี่ย 8% ต่อปี ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 จำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 268,048 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะช่วยเสริมการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต
ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง แม้บริษัทจะมีอัตรากำไรที่สูง แต่ก็มีภาระหนี้จากการลงทุนในระดับสูงเช่นกันซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้า ในครึ่งปีแรกของปี 2559 บริษัทมีรายได้ 5,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.85% จากการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนการจราจรบนทางด่วน และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า อัตรากำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ในครึ่งแรกของปี 2558 คงอยู่ในระดับสูงที่ 60.51% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตรากำไรที่สูงของธุรกิจทางด่วน
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตปีละ 10%-20% ในระหว่างปี 2559-2561 จากการเติบโตโดยปกติของธุรกิจ รวมทั้งจากการเปิดใช้ทางด่วนส่วน SOE และรถไฟฟ้าสายสีม่วงในเดือนสิงหาคม 2559 ในขณะที่อัตรากำไรของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 50% โดยพิจารณาจากส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทต้องจ่ายให้แก่ รฟม. ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีหนี้สินรวมสำรองค่าทดแทนจากการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างทางด่วนรวม 49,623 ล้านบาทและมีเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 62.98% ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2560-2561 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2560-2561 ที่ระดับ 65%-70% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาทจากการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ขณะนี้อยู่ในบัญชีของ CK เนื่องจากภาระหนี้ดังกล่าวมีสัญญาการชำระคืนหนี้จาก รฟม. ในระยะเวลา 10 ปีรองรับอยู่
บริษัทมีฐานะสภาพคล่องที่ยอมรับได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ และความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วม ในครึ่งแรกของปี 2559 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 5.92% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในขณะที่มีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.86 เท่า ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะมีแหล่งสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับภาระทางการเงินและแผนการลงทุนของบริษัท เนื่องจากบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหนี้เดิมที่จะครบกำหนด ทำให้บริษัทมีภาระทางการเงินที่ถึงกำหนดชำระภายในปี 2559 ประมาณ 4,700 ล้านบาท และบริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนเพิ่มเติมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดหมายว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 5,400-6,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินสดและเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อีกจำนวน 6,098 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนใน บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) และ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 13,015 ล้านบาท ณ วันที่ 22 กันยายน 2559 อีกด้วย