นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมนำบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอลส์ จำกัด (UAPC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงต้นปี 61 เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตโพลิเมอร์ และลาเท็คซ์ อยู่ที่ 1 หมื่นตัน/ปี และล่าสุดได้ลงทุนราว 100 ล้านบาทเพื่อที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 2 หมื่นตัน/ปี ซึ่งคาดแล้วเสร็จภายในปี 60 "ความต้องการโพลิเมอร์ และลาเท็คซ์ ในประเทศอยู่ที่ราว 2-3 แสนตัน/ปี และบริษัทได้ส่งออกไปยังประเทศ ฟิลิปปินส์ พม่า และเวียดนาม ซึ่งเรายังสามารถขยายตลาด และเพิ่มยอดขายได้อีกมาก เราจึงต้องการระดมทุนเพื่อที่จะมาใช้ในการขยายกำลังผลิตเพิ่มเติม ขณะที่ผ่านมาผลประกอบการของ UAPC เติบโตราว 20% โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้ 450 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 70-80 ล้านบาท"นายกิตติ กล่าว
อนึ่ง UAPC จัดตั้งเมื่อวันที่ 21 มกราคม 58 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเท่ากับ 50 ล้านบาท บริษัทถือหุ้น 99.97% และผู้บริหารถือหุ้น 0.03% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอล จำกัด (APC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลาเท็กซ์โพลิเมอร์และลาเท็กซ์อิมัลชั่นสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสีและการเคลือบ อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์และการพิมพ์ อุตสาหกรรมกาว อุตสำหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุจากใยสังเคราะห์เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 58 UAPC ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 130 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทเป็น 180 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจและให้เป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับส่งเสริมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
นายกิตติ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนบริษัทตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตรวมเป็น 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 62 จากปีนี้มีกำลังการผลิตอยู่ 16.5 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมองการลงทุนทั้งจากเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล ,พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ ส่วนเชื้อเพลิงขยะนั้นขึ้นอยู่กับสัมปทานที่จะได้รับเข้ามา
ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งกัมพูชา ,ลาว ,เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากในประเทศไทยราคารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำลง และมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการใหม่ ๆ โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการใน 2 ประเทศ คือ เมียนมา และลาว โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ในเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ที่มีปริมาณขยะที่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่ 5 เมกะวัตต์ โดยจะได้ข้อสรุปการลงทุนภายในช่วงปลายปีนี้ การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น และบริษัทจากประเทศไทยที่เข้าไปลงทุนอยู่แล้ว โดยบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 51%
สำหรับโครงการในประเทศเมียนมานั้น วันนี้นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ ของ UAC ได้เดินทางไปยังเมียนมาตอนใต้ เพื่อที่จะเจรจาสรุปโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โครงการ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์/โครงการ ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุมัติเรื่องใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหากการเซ็นสัญญาแล้วเสร็จก็จะเริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 60 จำนวน 1 เฟสก่อน โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 2 ปี เงินลงทุน 1,300 ล้านบาท/โครงการ โดยสัดส่วนการถือหุ้นแบ่งเป็น UAC และบมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) รวม 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความพร้อมเรื่องของที่ดินและอื่น ๆ
นายกิตติ กล่าวถึงแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง 1 พันล้านบาท ธุรกิจเคมีภัณฑ์ 400 ล้านบาท และธุรกิจไฟฟ้า 400 ล้านบาท ซึ่งช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ารายได้จะสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจเทรดดิ้งที่จะมียอดการขายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้รายได้ธุรกิจเคมีภัณฑ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ครึ่งปีแรกธุรกิจเคมีภัณฑ์ทำรายได้พลาดเป้า