CWT ตั้งเป้ามี PPA ในมือไม่ต่ำกว่า 60 MW ก่อนดัน"ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์"เข้า mai กลางปี 61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 29, 2016 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เดินหน้ารุกธุรกิจพลังงานตั้งเป้าหมายจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือไม่ต่ำกว่า 60 เมกะวัตต์ ก่อนผลักดันบริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด (CWTG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงกลางปี 61 โดยล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โรง กำลังผลิตแห่งละ 9.5 เมกะวัตต์ (MW) คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 800-900 ล้านบาทต่อโครงการ

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ ของ CWT กล่าวว่า CWTG ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งในธุรกิจพลังงานจะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 13 เมกะวัตต์ และมี PPA ในมือไม่ต่ำกว่า 60 เมกะวัตต์ในช่วงก่อนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใน mai กลางปี 61 จากปัจจุบันที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือจากโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในแผน ได้แก่ 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ ในจ.สระแก้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอเสนอประมูลงาน 2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ภาคเหนือ 1 แห่ง ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า 3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ภาคกลาง 2 อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า 4.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ ในจ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างรอผลประกาศผลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้

5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะภาคเหนือ 2 กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า และ 6.โรงไฟฟ้าขยะภาคกลาง 1 ขนาดกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า โดยทั้งหมดจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ไม่เกินปลายปี 62

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทจะมี PPA ในมือจำนวน 5 เมกะวัตต์ หลังจากที่วันนี้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท บลู โซลาร์ฟาร์ม 3 จำกัด (BSF3) เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49% โดย BSF3) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ขนาด 5 เมกะวัตต์ ที่ได้PPA แล้ว โดยโครงการตั้งอยู่ในจ.สมุทรสาคร ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทอยู่ในระหว่างเข้าทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ หรือ Due Diligence โครงการดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อหุ้นของ BSF3 ได้ภายในเดือนต.ค.59 ขณะที่โครงการจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนธ.ค.59 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 3 โครงการ กำลังการผลิตโครงการละ 9.5 เมกะวัตต์ มีมูลค่าลงทุนราว 800-900 ล้านบาท/โครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือนจะได้ข้อสรุปการเข้าซื้อกิจการ "ต่อไปเราจะให้ความสำคัญกับการขยายกิจการเกี่ยวกับพลังงานมากขึ้น ซึ่งเราเน้นโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และชีวมวล ที่เรามีความชำนาญ โดยเบื้องต้นเราจะเน้นการขยายในประเทศก่อนและในหลังจากปี 62 จะเริ่มมองหาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยมองในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นหลัก "นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนจะมาจากการเพิ่มแบบเฉพาะเจาะจง (PP) เป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ขอที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้ 450 ล้านหุ้น และได้เสนอขายไปแล้ว 200 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลือ 250 ล้านหุ้น ซึ่งระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับขั้นตอนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยบริษัทให้คำมั่นสัญญาว่าจะเสนอขายหุ้น PP ในราคาที่สูงกว่าราคาในกระดาน

สำหรับผลประกอบการปีนี้บริษัทมั่นใจรายได้และกำไรปีนี้จะทำได้สูงกว่าปีก่อน โดยเฉพาะรายได้รวมคาดว่าจะเกินกว่า 1,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,388 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการขายผลิตภัณฑ์เบาะรถยนต์ และยังเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจส่งออกชิ้นไม้สับเข้ามาด้วย

ส่วนกำไรสุทธิที่คาดว่าจะออกมาสูงกว่าระดับ 43.31 ล้านบาทในปีก่อน เป็นไปตามยอดขายที่ดีขึ้น และบริษัทตั้งเป้าผลักดันอัตรากำไรสุทธิให้สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.12% โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีอัตรากำไรสุทธิแล้ว 4.67% และทั้งปีก็น่าจะเกินกว่า 5% เนื่องจากมีการบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารต้นทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตได้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ