ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม SINGER ที่ “BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 3, 2016 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (SINGER) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนการมีเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ และประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานลูกค้าที่กระจายตัวและพนักงานขายที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อีกทั้งบริษัทยังมีโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรใหม่คือ บมจ.เจมาร์ท (JMART) และกลุ่มบริษัทสหพัฒนพิบูล (กลุ่มสหพัฒน์) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญเมื่อกลางปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารและระบบปฏิบัติการ ซึ่งความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสร้างความมั่นคงให้แก่สถานะทางการตลาดและเพิ่มผลประกอบการยังต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ต่อไป

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนภาวะหนี้ครัวเรือนในประเทศที่อยู่ในระดับสูง และการที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าอัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากและผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงจะเกิดขึ้นเพียงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะดำรงความมั่นคงของสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ให้ได้ตามแผน

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทในช่วงการเปลี่ยนแปลงการบริหารงาน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนในต่างจังหวัดที่ลดลงก็เป็นปัจจัยลบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วยเช่นกัน ในขณะที่ความสำเร็จในการผสานธุรกิจระหว่างบริษัทเจมาร์ทและกลุ่มสหพัฒน์ซึ่งจะเอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจ ตลอดจนจำนวนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลงและอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับเพิ่มขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนานจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท

ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทไม่ได้รับประโยชน์จากการผสานธุรกิจกับผู้ถือหุ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณภาพสินทรัพย์และฐานลูกค้าของบริษัทเสื่อมถอยลงโดยไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 SINGER (THAILAND) B.V. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ SINGER ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 40% ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งทำให้ JMART มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหลักรายใหม่ด้วยสัดส่วนหุ้น 24.99% ของบริษัท ตามด้วยกลุ่มสหพัฒน์ 7% และนักลงทุนอื่น ๆ อีก 8.01%

JMART ดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปเป็นผู้ให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ รวมถึงธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าด้วย ส่วนกลุ่มสหพัฒน์เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในประเทศไทย SINGER คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือที่มีกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้ง 2 รายดังกล่าว โดยในช่วงแรกนี้ได้ร่วมมือกันในรูปแบบ Shop-in-Shop ได้แก่ การนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ JMART เข้ามาจำหน่ายโดยอาศัยช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนของบริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะมีรายได้อื่น ๆ จากการขายสินค้าผ่านเครือข่ายและสาขาของบริษัทอีกทางหนึ่งด้วย บริษัทเปลี่ยนผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญเมื่อกลางปี 2559 โดยคณะผู้บริหารชุดใหม่เน้นการบริหารจัดการที่ทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผลประกอบการของบริษัท

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มโดยการขายลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมดให้แก่ บริษัท ซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญในด้านธุรกิจการค้า (Trading) ในขณะที่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของบริษัทที่ซื้อสินค้าภายใต้ตราสินค้า “ซิงเกอร์"

นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริษัทย่อยอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ซิงเกอร์เซอร์วิสพลัส จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านบริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า และ บริษัท ซิงเกอร์ (โบรคเกอร์) จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจตัวแทนขายกรมธรรม์ประกันชีวิต เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อบริษัทย่อยทั้งหมดเพื่อการขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้ามัลติแบรนด์ (Multi-brand) โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทซิงเกอร์ ลีสซิ่งเป็น บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด เปลี่ยนชื่อบริษัท ซิงเกอร์เซอร์วิสพลัส เป็น บริษัท เอสจี เซอร์วิสพลัส จำกัด และเปลี่ยนชื่อบริษัทซิงเกอร์ (โบรคเกอร์) เป็น บริษัท เอสจี โบรคเกอร์ จำกัด ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายที่กว้างขวางด้วยจำนวนสาขา 179 แห่งและพนักงานขายประมาณ 2,800 คน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559

บริษัทได้ใช้ความพยายามในการฟื้นฟูธุรกิจโดยกลับมาให้ความสำคัญในการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนาน ภายหลังจากบริษัทได้รับผลกระทบจากหนี้เสียของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปี 2549 ในปี 2553 บริษัทได้ขยายตลาดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น ตู้แช่ เครื่องเติมเงินสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ ในเดือนมกราคม 2557 บริษัทได้ออกตราสัญลักษณ์ย่อย “SINGER Get Rich" เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่สนใจสินค้าในกลุ่มนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายโดยการตั้งมุมสินค้าของบริษัทในห้างแมคโครซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่มีชื่อเสียงอีกด้วย สินค้ากลุ่มใหม่ของบริษัทยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ลูกค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนาดเล็กนี้จัดว่ามีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มดั้งเดิมของบริษัท รายได้จากยอดขายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์กลุ่มใหม่ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญถึง 55% ของยอดขายรวมในปี 2557 จาก 41% ในปี 2555 และ 49% ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ชะลอยอดขายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงเนื่องจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ยอดขายจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านคิดเป็น 45% ของยอดขายรวมในปี 2558 และ 63% ของยอดขายรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เมื่อเทียบกับยอดขายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ซึ่งคิดเป็น 37% ของยอดขายรวม

บริษัทยังคงรักษาจำนวนบัญชีสินเชื่อคงค้างอย่างต่อเนื่องในปี 2559 โดยมีจำนวนบัญชี 161,844 บัญชี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 หรือเพิ่มขึ้น 1% จาก 159,813 บัญชีในปี 2558 ลูกหนี้เช่าซื้อของบริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่และผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ โดยมูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,295 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 2,079 ล้านบาทในปี 2557 และปรับลดลงเป็น 2,036 ล้านบาทในปี 2558 และ 1,985 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559

ภายหลังปี 2549 บริษัทได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเก็บเงิน ลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ไม่จำเป็นลง และขยายประเภทสินค้าและฐานลูกค้า ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 321 ล้านบาทในปี 2556 จากที่มีผลขาดทุน 10 ล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำ และหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของบริษัท ส่งผลให้กำไรสุทธิปรับตัวลดลงเป็น 241 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 143 ล้านบาทในปี 2557 และเป็น 81 ล้านบาทสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับ 104 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันในปี 2558 อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นจากคุณภาพลูกหนี้ที่ถดถอยลง ในขณะที่รายได้จากค่าบริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากค่าตอบแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (แอร์ไทม์) บริษัทมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 159 ล้านบาทในปี 2558 และ 104 ล้านบาทสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้น 82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายควบคุมสินเชื่อขึ้นในปลายปี 2551 เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ใบสมัครสินเชื่อ อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงที่ 34.2% ในปี 2550 เป็น 4.3% ณ สิ้นปี 2555 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2556 เป็น 6.5% ในปี 2557 และปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 6.1% ในปี 2558 อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 10.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารระบบการจัดเก็บเงินค่าผ่อนชำระสินค้าจากเดิมที่ผู้แทนขายเป็นผู้เก็บเงินและบริการลูกค้าโดยตรงถึงบ้านมาเป็นการให้ลูกค้าชำระค่าผ่อนชำระสินค้าโดยตรงเข้าบัญชีของบริษัทผ่านตัวแทนรับชำระ (Direct Payment System -- DPS) ซึ่งระบบการชำระเงินแบบใหม่นี้ต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ความมีประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับลดลงเป็น 7.3% ในปี 2557 เป็น 4.3% ในปี 2558 และเป็น 6.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) จาก 10.8% ในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงเป็น 35.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งอัตราส่วน ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับเพียงพอที่บริษัทจะสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.01 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ