นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) และกรรมการ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) คาดว่าหุ้น BPP จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ราววันที่ 28 ต.ค.นี้ หลังจากการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.59
สำหรับเงินระดมทุนที่ได้จากการขายหุ้น IPO ครั้งนี้ จะนำมาใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม และลงทุนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศต่อไป โดย BPP มีแผนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเป็นราว 2,400 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 61 และเพิ่มเป็น 4,300 MW ในปี 68 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิต (COD) แล้ว 1,913 MW
"ประโยชน์ที่บ้านปูจะได้รับจากการขายหุ้น IPO ของ BPP ครั้งนี้ คือจะมีการดำเนินงานที่ชัดเจนของธุรกิจไฟฟ้าอยู่ในบ้านปู เพาเวอร์ ส่วนบ้านปูก็จะเป็นธุรกิจถ่านหินและเทคโนโลยีพลังงานอื่น ๆ จะทำให้มูลค่าหุ้นของ BANPU และ BPP มีความชัดเจนมากขึ้น"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า การขายหุ้น IPO ครั้งนี้ จัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors จำนวน 2 ราย จำนวน 110 ล้านหุ้นที่ได้จองซื้อหุ้นเข้ามา ได้แก่ 1. Capital Research and Management Company (CRMC) 2. Credit Suisse AG สาขาสิงคโปร์ และ Credit Suisse AG สาขาเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง (รวมเรียกว่า CS Cornerstone Investors) ซึ่งนับว่าเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพก็จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาจองซื้อหุ้น IPO ของ BPP ในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ BPP จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 648.49 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท กำหนดช่วงราคาที่ 18-21 บาท/หุ้น และจะเคาะราคาสุดท้ายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยบริษัทจัดสรรหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 210 ล้านหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ BANPU ตามสัดส่วน ขณะที่ส่วนที่เหลือไม่เกิน 438.49 ล้านหุ้นจะเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป ซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบัน 2 รายที่ได้จองซื้อหุ้นดังกล่าวแล้ว 110 ล้านหุ้นด้วย คาดว่าจะระดมทุนได้ราว 1.17-1.36 หมื่นล้านบาท ขณะที่ BANPU จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BPP เหลือราว 78% จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด
ด้านนายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ ของ BPP กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ไปใช้คืนหนี้ BANPU ในวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทเกือบจะไม่มีภาระหนี้เลย ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนขยายงานและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยตามแผนจะใช้เงินอีกราว 700-750 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายเป็น 4,300 MW ภายในปี 68
อย่างไรก็ตาม ในช่วงจากนี้จนถึงปี 61 ที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ามาที่ระดับ 2,400 MW นั้น บริษัทจะใช้เงินจาก IPO และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในการลงทุนดังกล่าว และหลังจากนั้นการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 4,300 MW นั้นจะมาจากการกู้ยืมเงิน
สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นระดับ 2,400 MW ในปี 61 นั้น จะมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือและอยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน 90 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 88 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 67.8 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง ในจีน ขนาด 1,320 MW ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 396 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทโซลาร์รูฟ ในไทย ราว 1.5 เมกะวัตต์
ขณะที่บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ตามเป้าหมายระยะยาว 4,300 MW ในปี 68 นั้น จะกระจายอยู่ในภูมิภาคเอเซีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และเวียดนาม นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่แล้วในไทย ,ลาว ,จีน และญี่ปุ่น โดยในไทยนั้น สนใจลงทุนทั้งพลังงานชีวมวล ,พลังลม ,พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโอกาสขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี แห่งที่ 2 ขนาด 1,000 MW ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
ส่วนโครงการในเวียดนามนั้น ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับรัฐบาลท้องถิ่นเวียดนาม เพื่อศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,300 MW ทางตอนกลางของประเทศ เบื้องต้นคาดว่าจะถือหุ้นราว 50% ร่วมกับเวียดนามและอาจจะมีพันธมิตรระดับสากลเข้ามาร่วมด้วย โดยโครงการคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 6 เดือนจากนี้เพื่อนำผลการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลเวียดนาม เพื่อพิจารณาและผลักดันให้โครงการถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยคาดว่ารัฐบาลเวียดนามจะใช้เวลาพิจารณาและอนุมัติโครงการคงจะใช้เวลาอีก 5 ปี ซึ่งจะทำให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในปี 68
สำหรับโครงการในลาวนั้น นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้ว ก็จะยังให้ความสนใจโครงการพลังน้ำขนาดเล็ก มีกำลังผลิตน้อยกว่า 100 MW และไม่ได้อยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะสามารถทำให้พัฒนาโครงการได้เร็วและน่าจะเห็นผลได้ก่อนปี 63 ขณะเดียวกันยังพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในเมียนมา,กัมพูชา ,ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียด้วย แต่จะเน้นโฟกัสไปที่ลาวและเวียดนามเป็นหลักก่อน ซึ่งบริษัทให้ความสนใจโครงการทุกรูปแบบ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ,พลังความร้อนใต้พิภพ ,พลังงานลม ,พลังน้ำ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก เป็นต้น
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในจีนนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว บริษัทจะเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ราว 400-500 MW จากปัจจุบันที่มีอยู่ 140 MW และ ในญี่ปุ่น มีเป้าหมายจะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นระดับ 200 MW จากปัจจุบันที่มีราว 100 MW และยังสนใจผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในญี่ปุ่นอีกราว 40 MW ด้วย ซึ่งโดยรวมน่าจะทำให้สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าบรรลุเป้าหมายที่ 4,300 MW ในปี 68 ได้ โดยในส่วนนี้จะเป็นพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 20%
ทั้งนี้ พอร์ตทรัพย์สินของบริษัทราว 1 ใน 3 จะอยู่ในประเทศไทย ขณะที่อีก 1 ใน 3 จะอยู่ในจีน ส่วนที่เหลือจะกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และอื่น ๆ