ทริสฯ เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร OISHI เป็น “A+" จาก “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 5, 2016 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) เป็น “A+" จาก “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการประเมินผลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับความช่วยเหลือที่บริษัทจะได้รับในฐานะบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นไปตามวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating) ของทริสเรทติ้ง

ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทย ตลอดจนการมีตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี เงินทุนจากการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น และสภาพคล่องทางการเงินที่ดีของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงที่บริษัทต้องเผชิญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า OISHI จะยังคงสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มไทยเบฟเวจ อีกทั้งจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันในตลาดชาพร้อมดื่มและสร้างผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องต่อไป

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทเปลี่ยนไปใช้นโยบายการก่อหนี้เชิงรุกหรือหากการทำกำไรของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและความสัมพันธ์ที่บริษัทมีกับกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย

OISHI ดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหาร โดยมีตราสัญลักษณ์ “โออิชิ" (Oishi) เป็นตราสินค้าหลักของบริษัทซึ่งเน้นความเป็นญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 โรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัท 3 แห่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 524 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตส่วนใหญ่ใช้ไปในการผลิตชาเขียวโออิชิซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตสินค้าตามสัญญารับจ้างผลิตให้แก่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจด้วย

สำหรับธุรกิจอาหารนั้น บริษัทดำเนินธุรกิจเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเองจำนวน 6 ตรา อีกทั้งยังจำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็นและให้บริการจัดส่งอาหารอีกด้วย ณ เดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีเครือภัตตาคารรวม 242 สาขา โดยร้านชาบูชิ (Shabushi) ซึ่งเป็นภัตตาคารชาบูชาบูหม้อไฟและซูชิข้าวปั้นญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์นั้นมีจำนวนสาขาประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีร้านอาหารในเครือที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น โออิชิ บุฟเฟ่ต์ (Oishi Buffet) โออิชิ แกรนด์ (Oishi Grand) โออิชิ ราเมน (Oishi Ramen) นิคุยะ (Nikuya) และคาคาชิ (Kakashi) โดยบริษัทมีครัวกลาง 1 แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการมีฐานะเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มชั้นนำในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดชาพร้อมดื่ม อีกทั้งการสนับสนุนจากไทยเบฟเวอเรจทำให้บริษัทคงความได้เปรียบทางการแข่งขันเอาไว้ได้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 44% ของตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งในตราสัญลักษณ์ พร้อมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การรับจ้างผลิตเครื่องดื่ม (Original Equipment Manufacturer -- OEM) ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอัตราการใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิตให้สูงขึ้นด้วย

สำหรับธุรกิจอาหารนั้นยังมีโอกาสในการเติบโตที่ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตราสัญลักษณ์ "โออิชิ" ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและโอกาสในการขยายสาขาเพิ่มเติม บริษัทวางแผนขยายสาขาทั่วเมืองใหญ่อย่างน้อย 15 สาขาต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนจะวางจำหน่ายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ โดยบริษัทรับผิดชอบในส่วนของการผลิตชาพร้อมดื่มและเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์อื่น ๆ อีกทั้งยังบริหารครัวกลางและภัตตาคารร้านอาหารด้วย ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2559 ไทยเบฟเวอเรจถือหุ้นในสัดส่วน 79.7% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจมีส่วนควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างเต็มที่ โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนและได้ประโยชน์หลายด้านจากการผสานพลังทางธุรกิจผ่านช่องทางการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการของบริษัท ตลอดจนเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวาง และความร่วมมือด้านการผลิต

เครือข่ายการจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ของไทยเบฟเวอเรจช่วยให้สินค้าของบริษัทกระจายตัวครอบคลุมตลาดต่าง ๆ และเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตในตลาดส่งออกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังรับจ้างผลิตเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ ให้แก่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น บริษัทยังสามารถจัดซื้อวัตถุดิบร่วมกับไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งช่วยทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ไทยเบฟเวอเรจได้รับการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “AA+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ "คงที่"

OISHI มีรายได้รวม 12,879 ล้านในปี 2558 และ 7,127 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ยอดขายจากธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ในสัดส่วน 54% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 46% ยอดขายจากธุรกิจเครื่องดื่มเติบโตสูงถึง 8.7% ในปี 2558 และ 19.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 โดยเพิ่มขึ้นจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการรับจ้างผลิตเครื่องดื่ม ในขณะที่ยอดขายจากธุรกิจอาหารลดลงประมาณ 1%-2% ในช่วงเวลาเดียวกันเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง

สถานะทางการเงินของบริษัทได้รับแรงหนุนจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่สูงขึ้น รวมถึงจากการทำกำไรที่ดีขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพอ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยเพิ่มจาก 10.6% ในปี 2557 เป็น 13.3% ในปี 2558 และมาอยู่ที่ 18.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 โดยเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนที่ดีของบริษัท ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดที่กระตุ้นยอดขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในธุรกิจเครื่องดื่ม สายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling - CAF) มีอัตราการใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิตสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์จากการประหยัดต้นทุน

บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 1,380 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 1,752 ล้านบาทในปี 2558 และอยู่ที่ 1,320 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 สภาพคล่องของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 56.5% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 17 เท่า ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 3,100 ล้านบาทในปี 2558 และลดลงมาอยู่ที่ 2,541 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2559 และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 43.2% ในปี 2558 และ 35.7% ณ เดือนมิถุนายน 2559

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในอัตราปานกลางโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งจากการขยายกำลังการผลิต และการขยายสาขาร้านอาหาร บริษัทยังแสวงหาโอกาสการเติบโตในตลาดประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยการขยายตลาดไปต่างประเทศจะช่วยเพิ่มรายได้ในช่วงระยะกลางถึงระยะยาว อัตราส่วนกำไรของบริษัทคาดว่าจะสูงกว่า 15% จากความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตในธุรกิจเครื่องดื่ม อีกทั้งยังคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 2,000-2,400 ล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 3,500 ล้านบาทเพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหารและเพิ่มสายการผลิตเครื่องดื่ม โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ในระดับไม่เกิน 40% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ