นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยถึงโครงสร้างรายได้ของ WHA ในอีก 5 ปี (63) คาดว่าจะมีรายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจที่ลงทุน โดยโครงสร้างรายได้ปัจจุบันมาจากโลจิสติกส์ 47% นิคมอุตสาหกรรม 31% สาธารณูปโภคและไฟฟ้า 18% และดิจิตัล 18% ซึ่งเป้าหมายภายใน 5 ปี (63) คาดจะมีสัดส่วนจากรายได้ประจำเป็น 50:50 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนจากรายได้ประจำอยู่ที่ 30% และรายได้ไม่ประจำอยู่ที่ 30%
ขณะที่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะ 1.7 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ 1.31 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบริษัทรับรู้รายได้และกำไรภายหลังจะนำทรัพย์สินเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเบื้องต้นคาดช่วงเดือนพ.ย.นี้จะเสนอขายหน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (HREIT) มูลค่ารวมไม่เกิน 8.02 พันล้านบาท
สำหรับทรัพย์สินที่กองทรัสต์ HREIT ลงทุนจะเป็นสินทรัพย์ประเภทโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่าในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราช และโครงการเหมราชโลจิสติกส์พาร์ค บริเวณอีสเทิรน์ซีบอร์ด ที่จ.ชลบุรี และจ.ระยอง จำนวน 6 แห่ง พื้นที่เช่า 261,314 ตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารโรงงาน 167,372 ตารางเมตร และอาคารคลังสินค้า 93,941 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีแผนนำสินทรัพย์เพิ่มเติมของ WHA ขายเข้ากองทรัสต์ WHART มูลค่าไม่เกิน 4.19 พันล้านบาท เป็นโครงการ Mega Logistics Center บางพลี จ.สมุทรปราการ และโครงการ WHA Mega Logistics Center ลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยคาดจะเสนอขายในช่วงไตรมาส 4/59 จะส่งผลให้ขนาดสินทรัพย์ของกองทรัสต์ WHART เพิ่มเป็นกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่ 9 พันล้านบาท
นางสาวจรีพร กล่าวว่า บริษัทมีแผนนำบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ผู้ดำเนินธุรกิจในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราชฯ รวมทั้งดำเนินธุรกิจพลังงาน โดยลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดย WHAUP มีแผนที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 229.50 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยช่วงไตรมาส 1/60 ภายหลังได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทคาดภายในไตรมาส 1/60 จะชำระหนี้เงินกู้จากการซื้อเหมราชฯ หมดลงได้ จะช่วยให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 1.3 เท่า จากสิ้นปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 1.89 เท่า จากปี 58 D/E อยู่ที่ 2.2 เท่า โดยบริษัทมีแผนที่จะนำเงินเสนอขายไอพีโอ WHAUP และการเสนอขายทรัพยสินเข้ากองทรัสต์ HREIT -WHART ซึ่งตามแผนจะนำเงินระดมทุนส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ และขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัท
ด้านนายแพทย์สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการ WHA เปิดเผยว่า บริษัทคาดจะมีมาร์เก็ตแคปเป็นประมาณแสนล้านบาทไม่ไกลเกินเอื้อม หรือไม่เกินภายในปี 63 เนื่องจากเป็นไปตามการเพิ่มกองทรัสต์ที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี และยังมีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจุบันมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท
นายอรรถวิทย์ เฉลิมทรัพยากร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน WHA เปิดเผยว่า สำหรับงบลงทุน 4.3 หมื่นล้านบาท บริษัทจะใช้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 59 -63 โดยในปี 60 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 7 พันล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้าขายที่ดินเฉลี่ยปีละ 1 พันไร่ ส่วนแผนการลดหนี้ ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ HREIT รวมทั้งการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 ในกอง WHART และการนำบริษัทลูก WHAUP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนบริษัทจะนำไปชำระหนี้ของบริษัทแม่ (WHA) โดยหลังจากการชำระหนี้ ไปบางส่วนจะส่งผลให้ กลุ่มWHA ลดหนี้ไปได้บางส่วน โดยคาดว่าปี60 จำนวนหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 4 หมื่นล้านบาท
ส่วนแผนการออกหุ้นกู้บริษัทฯ ยังเหลือวงเงินออกหุ้นกู้ประมาณ 4 พันล้านบาท จากที่ได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นไว้ 7 พันล้านบาท โดยบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 3 พันล้านบาท ซึ่งได้ดอกเบี้ยอัตราประมาณ4% ถือว่าค่อนข้างดี ทั้งนี้วงเงินหุ้นกู้ที่เหลืออยู่ 4 พันล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะทยอยออกในปีหน้า โดยอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่ที่กับภาวะตลาดในขณะนั้น และขึ้นอยู่ที่กับวัตถุประสงค์ของการใช้เงินทุนในขณะนี้นั้นด้วย ขณะที่การเสนอขายส่วนใหญ่บริษัทฯจะขายให้กับนักลงแบบเฉพาะเจาะจง (PP) หรือนักลงทุนสถาบัน
นายเดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสหกรรม และการลงทุนต่างประเทศ WHA เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินปีนี้ประมาณ 1,100 ไร่ ทั้งนี้ บริษัทมียอดขาย 9 เดือนแรกอยู่ที่ 653 ไร่ โดยมีแผนขยายธุรกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนลูกค้าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มยานยนต์ 34% และที่เหลือมาจากปิโตรเคมี, คอนซูเมอร์โปรดักซ์ และอื่นๆ ซึ่งลูกค้าไทยคิดเป็น 20% และญี่ปุ่นเป็น 38% รวมถึงมีลูกค้าจีนสนในเข้ามาอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ มีแผนพัฒนานิคมฯ ใหม่อีก 4 แห่ง ในอีสเทริน์ซีบอร์ดและจ.สระบุรี และอีก 2 แห่งในต่างประเทศ เพื่อรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในตลาดไทย นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเข้าไปลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม บนพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ โดยจะเริ่มพัฒนาเฟสแรก 3,000 ไร่ ในปี 60 โดยเบื้องต้นคาดจะเปิดขายหรือให้บริการลูกค้าภายในปี 60 แบ่งเป็น 7 เฟส มูลค่าลงทุน 1 พันล้านเหรียญ และคาดใช้ระยะเวลาพัฒนา 7 ปี ซึ่งคาดเซ็นสัญญาร่วมทุนภายในไตรมาส 4/59 โดยคาดเริ่มก่อสร้างปลายปี โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 20% ซึ่งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็นผู้นำการก่อสร้างในเวียดนาม
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่สนใจเข้าลงทุนในนิคมฯมีเบื้องต้นจำนวน 4 กลุ่ม แบ่งเป็นอุตสาหกรรมทั่วไป, คอนซูเมอร์ ,โลจิสติกส์ และเทคโนโลยี
นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภค โดยจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมจากน้ำดิบ น้ำเสียหรือน้ำทะเลและบริหารจัดการ น้ำเสียรวมถึง ธุรกิจ สาธารณูปโภคอื่นๆ อาทิ ธุรกิจ ท่อส่งก๊าซ ธุรกิจ บริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีนโยบายที่จะขยายธุรกิจในการให้บริการสาธารณูปโภคในชุมชน รวมถึงธุรกิจพลังงานโดยลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับแผนในอนาคตจะขยายผู้ดำเนินธุรกิจในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมไปส่วนอื่นในนิคมอุตสหกรรมในต่างประเทศ โดยมีแนวความคิดที่จะโฟกัสธุรกิจ โดยมองไปถึงต้นน้ำ และมีวิชั่นที่จะขยายสู่ CLMV และมีทรัพยากรบุคคลที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีอินโนเวชั่น อินโนเวทีฟ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนอยู่คู่กับชุมชนและธุรกิจ ทั้งนี้ การที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์ และเมื่อมีลูกค้าเข้ามาในพื้นที่ของบริษัทก็จะดึงดูด โดยจะตามเหมราชฯไปในทุกๆ นิคมอุตสาหกรรมโดยมีเป้าเป็นเอเชียลีดเดอร์ ซึ่งเมียนมา มองเป็นประเทศถัดไปในการขยายตัว เมื่อประเทศพร้อมเรื่องระบบสาธารณูปโภคเป็นโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น "ปัจจุบันมีน้ำดิบ และโลวอเตอร์ ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าในนิคม ส่วนเวสวอร์เตอร์ จะมีการปรับสภาพ น้ำด่างให้อยู่ในระดับที่เป็นการยอมรับ และไม่กระทบชุมชน โดยเราให้บริการตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง"นายวิเศษ กล่าว สำหรับธุรกิจพลังงานตามแผนในปี 62 คาดจะมีจำนวนการผลิตราว 543 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 320 เมกะวัตต์ "ตั้งแต่ 20 ปีก่อน ได้เริ่มลงทุนตั้งแต่ธุรกิจโรงไฟฟ้า IPP และ SPP และโซลาร์ หรือ VSPP โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตราว 320 เมกะวัตต์ ถ้าเป็นโครงการ SPP จะมีขนาด 100-120 เมกะวัตต์ และจะใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านบาท"นายวิเศษ กล่าว นายไกรทศ องค์ชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทคาดจะมีดาต้าเซ็นเตอร์จำนวน 3 แห่ง คือ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต, บางนาตราด และอีสเทริน์ซีบอร์ด โดยถือหุ้น 100% "เราวางแผน ภาย 3 ปี จะมีทั้งหมด 5,000 Rack จากปัจจุบันมีในประเทศทั้งหมดที่ 85 Rack โดยจะขยายใน 5-10 โลเคชั่น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ"นายไกรทศ กล่าว